กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สศอ.
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 3/2556 หดตัวลดลง -3.6% โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.0% ส่วนดัชนีอุตฯ เดือนกันยายนหดตัวลดลง -2.9% เป็นผลมาจากการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวลดลงหลังหมดการส่งมอบในโครงการรถคันแรก สศอ.ยังคาดการณ์ว่าแนวโน้มไตรมาสที่ 4/2556 ภาคผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจะยังชะลอตัว
ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(MPI) เดือนกันยายน หดตัวลดลง -2.9% ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 64.02% โดยภาพรวมสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 หดตัวลง -3.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 64.0% เป็นผลเนื่องมาจากผู้ผลิตรถยนต์ได้ทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าจากนโยบายรถยนต์คันแรกไปเรียบร้อยแล้วเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแนวโน้มไตรมาสที่ 4 ของปี 2556 คาดว่าการผลิตจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากฐานที่สูงอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมรถยนต์มีการเร่งผลิตเพื่อตอบสนองต่อยอดจองซื้อที่มีมากจากช่วงที่นโยบายรถคันแรกจะสิ้นสุดลงทำให้ติดลบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.67%
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภาวะการผลิตไตรมาสที่ 3/2556 ของอุตสาหกรรมที่สำคัญ มีดังนี้
อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่ 3/2556 หดตัว -8.67% เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ได้ทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าจากนโยบายรถยนต์คันแรกไปเรียบร้อยแล้วเป็นส่วนใหญ่ ส่วนแนวโน้มไตรมาสที่ 4 ปี 2556 คาดว่าการผลิตจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีฐานค่อนข้างสูง อันเนื่องมาจากช่วงปลายปี 2555 เป็นช่วงที่นโยบายรถคันแรกกำลังจะสิ้นสุดทำให้ผู้บริโภคเร่งจองซื้อรถ
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 3/2556 การผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หดตัว -1.12% โดยมีสาเหตุมาจากการผลิตที่ลดลงทั้งในกลุ่ม IC และ HDD ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็วจากการเติบโตของสมาร์ทโฟน/แท็บเล็ต ส่วนแนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้า ไตรมาส 4/2556 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.99 และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.64 เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อเข้ามามากในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่นำไปใช้งานระบบ Cloud computing และศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการจัดเก็บข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 การบริโภคเหล็กของไทยมีการขยายตัว ร้อยละ 8.35 แต่อยู่ในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับการขยายตัวในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 โดยในไตรมาสนี้มูลค่าการนำเข้าลดลงอย่างมาก เนื่องจากเมื่อปีก่อนมีการนำเข้าเหล็กเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกตามนโยบายรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการประกาศมาตรการทางการค้า เช่น มาตรการ AD และมาตรการ Safeguard ส่งผลให้การนำเข้าเหล็กลดลง ช่วงที่เหลือปี 2556 คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคเหล็กโดยรวมของประเทศจะชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากช่วงปลายปีที่ผู้ซื้อจะชะลอการสั่งซื้อและจะไม่สำรองสินค้าคงคลังมาก
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ไตรมาสที่ 3 ปี 2556 การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดภายในประเทศ ประกอบกับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะผลิตตามคำสั่งซื้อเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการผลิตผ้าผืนมีทิศทางลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำเข้าผ้าผืนราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้การผลิตผ้าผืนของไทยลดลง
อุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 การผลิตโดยภาพรวมปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 4.6 เนื่องจากสินค้าหลายชนิดเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นจากต่างประเทศ โดยกลุ่ม ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 32.6 หลังจากประเทศไทยได้แก้ไขปัญหาไข้หวัดนก ซึ่งเปลี่ยนระบบการเลี้ยงมาเป็นแบบปิด
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต
Index 2555 2556
ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย.
ดัชนีผลผลิต 178.91 177.88 178.47 192.63 179.73 180.63 174.17 199.55 163.01 179.27 180.95 174.27 173.86 172.70
อุตสาหกรรม
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % -2.4 -0.6 0.3 7.9 -6.7 0.5 -3.6 14.6 -18.3 10.0 0.9 -3.7 -0.2 -0.7
อัตราการ -11.3 -15.8 35.9 81.3 22.7 10.1 -1.2 0.7 -3.9 -7.5 -3.2 -4.9 -2.8 -2.9
เปลี่ยนแปลง (YOY) %
อัตราการใช้ 66.48 65.49 67.81 68.37 63.64 67.15 63.43 71.56 60.40 66.87 64.94 64.54 63.49 64.02
กำลังการผลิต %
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม