มะเร็งปากมดลูกหญิงไทยเข้าอันดับ 10 ของโลกแล้ว เตือนหญิงไทยอย่าอายหมอ

ข่าวทั่วไป Monday July 14, 1997 10:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--14 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
ปัจจุบันพบสตรีไทยประสบปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาโรคติดต่อทางระบบเจริญพันธ์ ล่าสุดมะเร็งปากมดลูกสตรีไทยเข้าอันดับ 10 ของโลกแล้ว สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขระดมพลังเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจกว่า 300 คนทำวิจัย เพื่อพัฒนาและหาแนวทางแก้ปัญหา
นายสุนทร วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับโครงการวิจัยผู้หญิงกับสุขภาพว่า ตามที่ธนาคารโลก และองค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้ประเทศต่าง ๆ มีแผนระดับชาติเพื่อพัฒนาบทบาทของสตรีด้านสุขภาพ เนื่องจากผู้หญิงเป็นเสาหลักของครอบครัวในการดูแลสุขภาพอนามัย สำหรับประเทศไทยประชากรกว่า 60% เป็นผู้หญิง ในขณะที่ผู้หญิงให้ความสนใจ เอาใจใส่ดูแลสุขภาพคนรอบข้างเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงสุขภาพของตนเองเป็นอันดับสุดท้าย จุดนี้จึงเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงต้องประสบปัญหาด้านสุขภาพมากพอสมควร เพราะที่ผ่านมาพบว่าปัญหาการป่วยและตายของผู้หญิงเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอดยังมีอยู่ ปัญหาโรคทางพันธุกรรม เช่น ธาลัสซีเมียมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ผู้หญิงวัยรุ่นมีภาวะโลหิตจาง ขาดสารอาหารเติบโตไม่สมอายุ ผู้หญิงมีปัญหาเจ็บป่วยด้วยโรคจากการประกอบอาชีพมากขึ้น เช่น ระดับสารตะกั่วพบมากในผู้หญิงประมาณร้อยละ 36 ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการแท้งเฉียบพลัน และการคลอดที่ผิดปกติ รวมทั้งหยุดการเจริญเติบโตทางสมองของทารกในครรภ์ด้วย นอกจากนี้อัตราการติดเชื้อเอดส์และสามารถถ่ายทอดไปสู่ทารกมีจำนวนมากขึ้น พบว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อเอดส์ชายต่อหญิงในปี 2536 คือ 6 ต่อ1 และในปี 2539 พบในอัตรา 4 ต่อ 1 แนวโน้มในอนาคตคาดการณ์ว่าจะอยู่ในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แน่นอน
นายสุนทร กล่าวต่อว่า นอกจากโรคดังกล่าวแล้วอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกของหญิงไทยขณะนี้อยู่ในอันดับ 10 ของโลกแล้ว 4 ใน 5 จะเป็นผู้ป่วยที่อยู่ในเขตเทศบาล สำหรับปัญหาการป่วยด้วยโรคทางระบบเจริญพันธ์ เท่าที่รวบรวมข้อมูลจากผู้หญิงในชนบทของภาคอิสานที่ป่วยและได้รับการตรวจทางคลินิคพบว่าในรอบ 3 เดือน ผู้หญิง 1 คน จะป่วยด้วยโรคของระบบเจริญพันธ์ประมาณ 2.29 ครั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิงไทย กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ดำเนินการโครงการวิจัยเพื่อสุขภาพสตรีและส่งเสริมบทบาทของสตรีด้านสุขภาพขึ้น โดยระดมพลังเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ และผู้สนใจทั่วประเทศจำนวน 360 คน ทำการทบทวนสถานการณ์ เป็นงานวิจัยย่อย 18 เรื่อง เช่น สุขภาพจิตสตรี สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน สุขภาพสตรีสูงอายุ ปัญหาทางเพศของวัยรุ่น และการทำแท้ง การใช้ยาของสตรีและการมีสุขภาพดี ผู้หญิงกับปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ความรุนแรงต่อผู้หญิง เหล่านี้เป็นต้น
นายสุนทร กล่าวในตอนท้ายว่า ผลการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จะได้เป็นแนวพิจารณาเพื่อช่วยแก้ปัญหา และพัฒนารูปแบบการจัดบริการด้านสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้หญิงให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะแล้วเสร็จในปี 2541 ภายใต้งบประมาณ 4.5 ล้านบาท เตือนหญิงไทยมั่นตรวจสุขภาพตนเอง อย่าอายแพทย์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ