กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--พม.
วันนี้ (๒๙ ต.ค. ๕๖) เวลา ๐๙.๐๐ น. นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดการสัมมนา เรื่อง “การใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง” ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ชี้แจงให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ
นางปวีณา หงสกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะสังคมสื่อออนไลน์ และการขยายตัวของประชากรยุคดิจิตอล ทำให้สังคมของการสื่อสารมวลชนเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งประชาชนในเมืองต่างๆมีการแสวงหาทางเลือกใหม่ๆในการรับข้อมูลข่าวสาร โดย สื่อมิติใหม่ทางออนไลน์ช่วยให้คนสามารถสื่อสารทางตรงถึงกันได้มากขึ้น ทั้งนี้ ยังมีการนำสื่อออนไลน์มาใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์หรือส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง ซึ่งเป็นเครื่องมือรูปแบบใหม่ที่พัฒนาและเกิดขึ้นตามยุคสมัย สามารถลดช่องว่างระหว่างนักการเมืองและประชาชน สร้างพื้นที่สาธารณะทางการเมืองให้มากขึ้น และเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีการโต้ตอบ แสดงออกอย่างถูกต้องเพื่อสร้างดุลยภาพในการสื่อสารในระบบประชาธิปไตยให้ทันสังคมอาเซียนและสังคมโลก ซึ่งการใช้สื่อออนไลน์ในการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีวัตถุประสงค์ไม่ต่างจากการหาเสียงผ่านทีวี หนังสือพิมพ์ แผ่นป้าย หรือรถหาเสียง โดยผู้ใช้สื่อดังกล่าวต้องเรียนรู้ข้อดี ข้อเสีย และจะต้องรู้ว่าควรใช้สื่อเหล่านี้อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกิดแรงสนับสนุนทางการเมือง
นางปวีณา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีพรรคการเมืองและนักการเมืองใช้สื่อออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อโน้มน้าวชักจูงใจกลุ่มเป้าหมายจนประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ การนำสื่อออนไลน์มาใช้เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี ยังเป็นการส่งเสริมให้สตรีมีส่วนร่วมในทางการเมืองมากขึ้น ทั้งในระดับท้องถิ่นหรือในระดับชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และสร้างความหลากหลายในการพัฒนา ทำให้มีตัวแทนชุมชนที่หลากหลาย สามารถสะท้อนปัญหาและความต้องการของชุมชนหรือสังคมได้อย่างครอบคลุม โดยเฉพาะปัญหาของสตรี ที่จะได้รับการรับรู้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การแก้ไขอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
“การใช้สื่อออนไลน์มาช่วยผลักดันการมีส่วนร่วมและการดำเนินงานทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมประสบผลสำเร็จทางการเมืองได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง “เครื่องมือ” ที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้เท่านั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จคือความประพฤติที่ดี ความน่าเชื่อถือ ฝีมือการทำงาน และทีมงานที่มีคุณภาพ” นางปวีณา กล่าวตอนท้าย.