กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--ส.อ.ท.
ส.อ.ท. ผนึกกำลัง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดโครงการ จัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการ หวังแก้ปัญหา พร้อมยกระดับมาตรฐานการอาชีวศึกษาชาติ
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดอบรมครูนิเทศ และครูฝึกในสถานประกอบการ ของโครงการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา วันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2556 เวลา 09.00 — 16.30 น. ณ ห้องเพชรรัตน์ โรงแรมเฟิร์ส ถนนเพชรบุรี โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดการอบรมและให้โอวาทแก่ครูนิเทศและครูฝึกก่อนการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ครูนิเทศ และครูฝึกในสถานประกอบการ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการศึกษาทวิภาคีของสภาอุตสาหกรรมบทบาทของครูนิเทศ ครูฝึกที่ดี ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีที่สุด ทั้งนี้โครงการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการฯ จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างการจัดการด้านอาชีวศึกษาให้มีความเข้มแข็ง และผลผลิตทางการศึกษามีความสามารถตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยจัดให้มีการจัดการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Work-integrated Learning: WIL) เน้นในเรื่องของการเพิ่มผลผลิต คุณภาพความปลอดภัย และนิสัยอุตสาหกรรม เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตในสถานประกอบการ มีทักษะในการทำงานตรงกับวิชาชีพและสามารถเรียนรู้ถึงการดำรงชีวิตการทำงานในสถานประกอบการแก่นักศึกษาที่ร่วมโครงการ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการกองทุนการศึกษากับการพัฒนาอาชีวศึกษาได้ดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว กับวิทยาลัยเป้าหมาย โดยเน้นเรื่องการฝึกวินัย ความอดทน อดกลั้น เพื่อปรับพฤติกรรม และทัศนคติของนักศึกษา ให้คิดดี ทำดี ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และนอกจากคิดดี ทำดีแล้ว นักศึกษาเหล่านี้เรียนสายอาชีพ ควรมีความรู้ และทักษะพื้นฐานที่ดี ที่พึงมี เพื่อการมีงานทำ และประกอบอาชีพได้ด้วย โครงการกองทุนการศึกษา จึงได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมดำเนินงานในโครงการนี้ ทำเป็นโครงการต้นแบบที่ดีแต่ต้องไม่แทรกแซงงานของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแก้ปัญหาในหลายเรื่อง ซึ่งในส่วนของภาคเศรษฐกิจ การขยายตัวทางภาคอุตสาหกรรมยังมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ซึ่งยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทั้งแรงงานไร้ฝีมือ และแรงงานฝีมือ ดังนั้นหากในภาคการศึกษา มีระบบการฝึกที่ดี โดยเฉพาะการได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการ จะทำให้เด็กมีศักยภาพและมีทักษะตรงตามความต้องการ
การจัดการศึกษาทวิภาคี ไม่ใช่เรื่องใหม่ในระบบการการจัดการศึกษาของประเทศ โดยเฉพาะสายอาชีพ ซึ่งมีหุ้นส่วนใหญ่คือ สถานศึกษา กับ สถานประกอบการ แต่หากจะให้สำเร็จต้องปรับวิธีเรียน เปลี่ยนวิธีสอน และการบริหารจัดการระบบการบริหารจัดการที่ดี ทั้งในเรื่องหลักสูตรที่เป็นการกำหนดร่วมกัน ระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ การพัฒนาครู (Re-Learn) เพื่อพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันเด็ก และการเรียนการสอนต้องมุ่งเน้นเพื่อการพัฒนาความรู้ ทักษะของผู้เรียน ซึ่งไม่ใช่ การขายแรงงาน
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้เกิดขึ้นภายใต้การกำหนดมาตรฐานการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการที่ดี ที่ทุกคนมีส่วนร่วม และยกให้เป็นการจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานประกอบการของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษาโดยในเฟสแรกนี้ มีระยะเวลาดำเนินงาน 7 เดือน ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556 — วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีสถานศึกษาเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 9 แห่ง (วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐ 4 แห่ง เอกชน 5 แห่ง) จากจำนวน 11 แห่ง ที่อยู่ในเป้าหมาย โดยมีสถานประกอบการเข้าโครงการ 41 บริษัท จำนวนนักศึกษาที่รับเข้าฝึกงาน จำนวน 348 คน ประกอบด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ 13 บริษัท อุตสาหกรรมผลิตประกอบ ศูนย์รถยนต์ 3 บริษัท อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม 4 บริษัท อุตสาหกรรมพลาสติก 2 บริษัท อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และของใช้ ตกแต่งบ้าน 2 บริษัท อุตสาหกรรมหนัง 1 บริษัท อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3 บริษัท อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 2 บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเลียม 1 บริษัท อุตสาหกรรมยาและเครื่องสำอาง 1 บริษัท อุตสาหกรรมผลิต ประกอบเครื่องจักรกล 2 บริษัท อุตสาหกรรมอาหาร 2 บริษัท ผู้ให้บริการคอมพิวเตอร์ ผลิตสื่อ 2 บริษัท และโรงแรม 3 บริษัท
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความพยายาม และทุ่มเททำงานของทุกฝ่ายในครั้งนี้จะบรรลุผลสำเร็จตามที่วางไว้ เพราะเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ แก้ปัญหา และยกระดับมาตรฐานการศึกษาอาชีวศึกษาของชาติ” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว