กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--PRdd
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยถึงทิศทางการลงทุนในช่วงนี้ว่า ยังคงเป็นโอกาสดีในการกระจายสินทรัพย์เพื่อลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากยังมองเห็นโอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป โดยในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วสามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market)
ทั้งนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ ยังคงแนะนำให้นักลงทุนจัดพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกองทุนหุ้นต่างประเทศ โดยมีกองทุนที่แนะนำคือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์ หรือ SCBPGF ซึ่งมีผลการดำเนินงานย้อนหลัง (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 56) 3 เดือนอยู่ที่ 9.44% 6 เดือนอยู่ที่ 21.57% 1 ปี อยู่ที่ 34.74% ย้อนหลัง 3 ปี อยู่ที่ 51.33% ซึ่งถือเป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา จากการรายงานข้อมูลของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ แพลทตินัม โกลบอล ฟันด์ เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศ DB Platinum Branchen Stars Fund ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในประเทศลักเซมเบิร์ก ลงทุนในสกุลเงินยูโร มีนโยบายการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานดีและมีแนวโน้มการเจริญเติบโตในอนาคต โดยมีสไตล์การลงทุนแบบ Global Large Cap Value เพื่อที่จะสะท้อนถึงดัชนี Deutsche Bank CROCI Sectors IndexTM ซึ่งประกอบขึ้นด้วย 30 หลักทรัพย์ที่ถูกคัดเลือกมาจาก 9 กลุ่มอุตสาหกรรม (ไม่รวมกลุ่มสถาบันการเงิน) จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3 แห่ง ในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น
1. The Down Jones EURO STOXX Large Index ในสกุลเงินยูโร 2. บริษัทขนาดใหญ่ 251 แห่ง ใน S&P 500 Index ในสกุลเงินดอลลาร์ สหรัฐ และ 3.The TOPIX 100 Index ในสกุลเงินเยน (JPY)
นางโชติกากล่าวว่า ถึงแม้ในช่วงนี้การลงทุนในตลาดหุ้นต่างๆ จะมีความผันผวน แต่บลจ.ยังคงมองเห็นโอกาสในการลงทุน จากภาพรวมของสภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป ที่มีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ การกระจายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงต่อกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ได้ด้วย เนื่องจากการชะลอ QE ไม่ว่าจะช้าหรือเร็วย่อมมาพร้อมตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น ที่ผ่านมาเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการชะลอ QE เราจึงเห็นเม็ดเงินไหลออกจากตลาดในภูมิภาคนี้ ไปยังตลาดเงินตลาดทุนกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้นการกระจายสินทรัพย์เพื่อลงทุนในต่างประเทศดังกล่าวจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ Abenomics ตลอดจนโตเกียวเพิ่งได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ส่งผลดีต่อการลงทุน และการก่อสร้างภายในประเทศ รวมถึงกลุ่มประเทศยุโรปที่ปัจจัยลบเริ่มหมดไป เศรษฐกิจแต่ละประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรปพัฒนาแล้ว ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 92.5 ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา