กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
การดำเนินชีวิตในภาคเกษตรกรรมกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไป พร้อมๆ กับค่านิยมในการใช้ชีวิตของผู้คนทั้งในเมืองและชนบทที่มุ่งแสวงหาประสบการณ์และความแปลกใหม่ให้กับชีวิต ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของการไหลของเทคโนโลยีและวัฒนธรรมข้ามพรมแดน มากกว่าจะมุ่งมั่นพัฒนาภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไหวเอนไปกับกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงและสิ่งเร้าได้ง่าย
“ค่านิยมของการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเปลี่ยนไป จะทำให้อาชีพเกษตรกรรมถูกจำกัดวงอยู่เฉพาะรุ่นพ่อแม่ ซึ่งหากไม่เร่งรณรงค์และสะท้อนให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นถึงรากฐานของประเทศ ซึ่งมีภาคการเกษตรเป็นเสาหลักค้ำจุนแล้ว ในอนาคตอันใกล้ พืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ก็จะลดปริมาณลงจนเข้าสู่ภาวะขาดแคลน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและภาคครัวเรือนตามลำดับ” นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มมิตรผล ให้มุมมองความเปลี่ยนแปลงของสังคมภาคเกษตรกรรม
ที่กำลังจะเกิดขึ้น
กลุ่มมิตรผล มองเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้ริเริ่มหลักสูตรพัฒนาอาชีพท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระบบการศึกษาเพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลาง โดยร่วมกับโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนใกล้เคียงที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผลในการพัฒนาหลักสูตร โดยมีแปลงสาธิตเป็นองค์ประกอบหลักให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติจริงหลังจากได้เรียนรู้ภาคทฤษฏีจากในชั้นเรียน
“เราได้นำร่องโครงการปลูกอ้อยในโรงเรียน ด้วยการจัดทำแปลงปลูกอ้อยเพื่อการเรียนรู้ภายในโรงเรียนระดับ ชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมต้นเป็นครั้งแรก ให้กับชุมชนท้องถิ่นใน 6 จังหวัดที่กลุ่มมิตรผลมีโรงงานตั้งอยู่ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ และเลย เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีของเกษตรกรรมไร่อ้อยที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งแม้จะเป็นปีแรกของการทดลองใช้หลักสูตร แต่การตอบรับและผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ”
โรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์ อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในหลายโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ร่วมโครงการพัฒนาหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียนกับกลุ่มมิตรผล โดยนายวัฒนา สมหวังผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองไผ่ดุสิตประชาสรรค์ เล่าว่า คนในชุมชนบ้านหนองไผ่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ดำเนินชีวิตด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรรมปลูกอ้อยเป็นหลัก นอกจากอ้อยจะเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาล ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว วัตถุดิบเหลือใช้ที่ได้จากอ้อยเช่น ชานอ้อย ใบอ้อย และโมลาส ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก จากการนำมาผลิตเป็นวัสดุทดแทนไม้ ไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงเอทานอลพลังงานสะอาดที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละหลายพันล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ โรงเรียนจึงได้ริเริ่มจัดทำหลักสูตรสาระท้องถิ่นเรื่อง “อ้อย” เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนมีความเข้าใจ เห็นคุณค่าของวิถีการดำเนินชีวิตของคน ในชุมชนซึ่งยึดอาชีพเกษตรกรรม รวมถึงจิตสำนึกในการใช้พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างรู้คุณค่าผ่านการเรียนรู้เรื่อง “การปลูกอ้อย” ให้กับนักเรียน โดยได้รับการสนับสนุนด้านองค์ความรู้จากปราชญ์ชุมชนและผสานองค์ความรู้ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ร่วมกับกลุ่มมิตรผลที่มีความเชี่ยวชาญในการผลิตน้ำตาลและชีวพลังงาน ในการพัฒนามาเป็นหลักสูตรการปลูกอ้อย ครอบคลุมเนื้อหาการเรียนรู้ในเรื่องวิถีชีวิตชุมชนเกษตรกรรม พันธุ์อ้อย การปลูกและการบำรุงรักษาอ้อย โรคและศัตรูของอ้อย การป้องกันโรคและศัตรูของอ้อย การเก็บเกี่ยวอ้อยอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงมารู้จักกับพลังงานสะอาดจากอ้อย
“หลักสูตรการปลูกอ้อยนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เด็กๆ มีความเข้าใจถึงวงจรชีวิตและการดูแลอ้อยอย่างครบวงจร เพื่อให้ได้ผลผลิตสูงเท่านั้น แต่พวกเขาจะเข้าใจและภาคภูมิใจในวิถีของเกษตรกรรมไร่อ้อย ซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับพ่อแม่ที่คาดหวังให้พวกเขาสานต่ออาชีพเกษตรกรที่ทรงคุณค่า ด้วยการนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจิญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน” นายวัฒนากล่าว
ด้านนายชวลิต นาตรีชน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลาด อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ อีกหนึ่งโรงเรียนที่ร่วมกับกลุ่มมิตรผลในการพัฒนาหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียน กล่าวว่า เมื่อเริ่มหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียน เราพบว่าเด็กๆ ให้ความสนใจและกระตือรือร้นที่จะลงแปลงในแต่ละสัปดาห์ พวกเขาให้ความสำคัญและใส่ใจกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการดูแลอ้อยในแปลงให้เจริญเติบโตตามระยะเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่จากกลุ่มมิตรผลและปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความเชี่ยวชาญในการปลูกอ้อยคอยให้คำปรึกษา
เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับคุณประโยชน์ของอ้อยและเกิดความเข้าใจในวิถีการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ และอีกหลายครอบครัวในชุมชนที่ดำเนินชีวิตด้วยการยึดอาชีพเกษตรกรอ้อย จากการได้เป็นส่วนหนึ่งของการปลูกและดูแลอ้อยในแปลงสาธิตของตนเอง หลายคนเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ จากเดิมที่ไม่เคยให้ความสนใจต่อการทำงานของพ่อแม่ ก็ค่อยๆ เริ่มลงไร่ช่วยพ่อแม่ปลูกและดูแลอ้อย จนกลายเป็นความผูกพันกับไร่อ้อย และเป็นเป้าหมายของตนเองในอนาคต ในการพัฒนาไร่อ้อยให้ได้ผลผลิตสูงกว่าที่พ่อแม่เคยทำได้
“คนในชุมชนเคยตั้งคำถามว่า ถ้าหมดรุ่นพวกเขาแล้ว ชุมชนอาจเปลี่ยนโฉมหน้าจากที่เป็นอยู่ เพราะเด็กรุ่นใหม่ต่างมีเป้าหมายที่จะไปแสวงหาความแปลกใหม่ของชีวิตในสังคมเมือง ชุมชนที่ควรจะได้รับการขับเคลื่อนต่อยอดไปข้างหน้า อาจหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลัง หากไม่มีคนสานต่อแนวทางการพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้น เมื่อกลุ่มมิตรผลมีโครงการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นปลูกฝังเยาวชนให้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด ผ่านโครงการพัฒนาหลักสูตรปลูกอ้อยในโรงเรียน คนในชุมชนจึงไม่รีรอที่จะร่วมเป็นพลังสำคัญช่วยกันหล่อหลอมเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดความตระหนักและมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบต่ออาชีพเกษตรกรไร่อ้อยที่ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศต่อไป” นายชวลิต กล่าว
ความหวังที่จะเห็น “อ้อย” พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างได้ด้วยสองมือจากรุ่นพ่อแม่สู่เกษตรกรไร่อ้อยรุ่นใหม่ เริ่มส่องประกายแจ่มชัดขึ้น หลักสูตรปลูก “อ้อย” ในโรงเรียนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างและหล่อหลอมเกษตรกรยุคใหม่ ซึ่งยังต้องได้รับการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมจากการเรียนรู้ร่วมกันของโรงเรียน ชุมชน และภาคเอกชน เช่นเดียวกับกลุ่มมิตรผล จนกว่าชุมชนจะเข้มแข็งและขับเคลื่อนไปได้ด้วยตนเอง จึงจะสามารถเติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนได้ในที่สุด