กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--สถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย จัดงานสัมมนา “ถอดรหัสธุรกิจ โครงการรางวัลไทยสร้างสรรค์ ปี 2553-2554” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของธุรกิจสร้างสรรค์ที่ร่วมโครงการรางวัลไทยสร้างสรรค์ปี 2553-2554 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และกระบวนการดำเนินธุรกิจของธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน งานสัมมนาประกอบด้วย กรณีศึกษาของผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จ อาทิ เอสเธทิค สตูดิโอ บาธรูม ดีไซน์ นิวอาไรวา, พีคฌาณ, พลัสเซนส์ม และไวเบรโต้ มาร่วมถ่ายทอดความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนานำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ธุรกิจต่อไป
มร. ริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในฐานะผู้บริหารโครงการและดำเนินการศึกษาตามโครงการ กล่าวว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากในการเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงและค่าวัตถุดิบที่ต่ำกว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมในตลาดโลกทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ของไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ การพัฒนาทุนมนุษย์ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่รัฐบาลไทยให้การส่งเสริม นอกจากนี้โครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจสร้างสรรค์ก็เป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐในการนำการวิจัยมาประมวลผลเพื่อกำหนดนโยบายระดับประเทศที่สอดคล้องกันต่อไป อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถนำข้อมูลจากงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจเพื่อเตรียมรับกับโอกาสและความท้าทายที่เกิดขึ้น”
ดร. อภิชาติ ประเสริฐ ผู้อำนวยการโครงการและจัดการความรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) กล่าวว่า “สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อประเทศไทยในยุคโลกาภิวัตน์ จึงมีโครงการ กิจกรรม และงานวิจัย ที่เกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพเชิงสร้างสรรค์ของประชาชนไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เพื่อเพิ่มศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ สบร. ได้มีการเผยแพร่ผลงานต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์และสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งงานวิจัยในโครงการศึกษาวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของธุรกิจสร้างสรรค์ที่ร่วมโครงการรางวัลไทยสร้างสรรค์ปี 2553-2554 นี้ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ สบร. ริเริ่มขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลจากโครงการฯ มาถ่ายทอดประสบการณ์และโมเดลธุรกิจที่สร้างความสำเร็จของแต่ละท่าน รวมทั้งยังมีการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจสร้างสรรค์ โดยนำเสนอตัวแปรสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ คือ ความรู้ความเข้าใจในการประกอบธุรกิจควบคู่กับการพัฒนาการออกแบบ และความร่วมมือกันระหว่างนักออกแบบและผู้ประกอบการ”
ทั้งนี้โครงการจะมีการจัดทำหนังสือ “ถอดรหัสธุรกิจสร้างสรรค์” โดยได้รวบรวมรูปแบบการดำเนินธุรกิจจากเก็บข้อมูลและเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหาร 40 บริษัทที่ประสบความสำเร็จ และใช้ Business Model Canvas มาใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ค้นหาแนวคิดและกระบวนการต่างๆ ว่า ทั้ง 40 บริษัทที่ประสบความสำเร็จมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจรูปแบบใด และคุณลักษณะสำคัญที่ธุรกิจเหล่านั้นมีร่วมกันที่นำพาธุรกิจของพวกเขาเหล่านั้นไปสู่ความสำเร็จคืออะไร
ท่านสามารถติดต่อขอรับหนังสือ “ถอดรหัสธุรกิจสร้างสรรค์” ได้ที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) โทร. 02 105 6500
เกี่ยวกับสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.)
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) — สบร. มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Office of Knowledge Management and Development (Public Organization) — OKMD จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา “จัดตั้งสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสแสวงหา พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์ และพัฒนาคุณภาพความคิดของประชาชนและเยาวชนของประเทศ ทั้งนี้ สบร. ทำหน้าที่เป็นองค์กรในการผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นประเทศชั้นนำทั้งในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (BBL Learning) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคนไทยสายเลือดนักคิด (Creative DNA)
เป็นต้น
www.okmd.or.th
เกี่ยวกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย
สถาบันคีนันแห่งเอเซีย (Kenan Institute Asia) เป็นองค์กรการพัฒนาที่ไม่หวังผลกำไรในประเทศไทย ซึ่งดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง สถาบันฯ เป็นผู้นำทางด้านการฝึกอบรม ความรับผิดชอบขององค์กรธุรกิจต่อสังคม การวัจัยและบริการให้คำปรึกษา มีการประสานงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ รวมทั้งดูแลแผนงานสนับสนุนเงินช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development — USAID) นอกจากนี้ สถาบันฯ กำลังนำองค์ความรู้ด้านการสร้างศักยภาพของประชาสังคมไปใช้ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)
www.kiasia.org