กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์
คำว่า “ประชาธิปไตย” ฟังดูอาจจะดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องนี้ล้วนมีความเกี่ยวพันกับชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย ไม่เว้นแม้แต่เด็กและเยาวชนที่อายุยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า เกิดขึ้นจากการขาดความรู้และความเข้าใจในหน้าที่ของตนเองตามวิถีทางแห่งประชาธิปไตยที่ถูกต้อง
ด้วยเหตุนี้ “นายวิฑูรย์ ไตรรัตน์วงศ์” ดีเจนักจัดรายการวิทยุ ที่คลุกคลีกับการทำงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนมานับสิบปี จึงได้ทุ่มเทเวลาอีกส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของหลักประชาธิปไตยให้กับชาวขอนแก่น และเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่ยั่งยืนคือการ “สร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน”
จึงได้จัดทำโครงการ “การสร้างวิทยากรต้นกล้าประชาธิปไตยในโรงเรียน” โดยได้รับการสนับสนุน “ทุนครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อพัฒนาแกนนำเยาวชนจากโรงเรียนในพื้นที่ให้สามารถขยายผลความรู้และความเข้าใจในระบอบการเมืองการปกครองของไทยไปสู่เพื่อนนักเรียนในสถานศึกษาของตนเอง เพื่อเป็นการปูพื้นฐานการเป็นพลเมืองดีในวิถีประชาธิปไตยเมื่อเติบใหญ่ขึ้นไปในอนาคต
“เด็กและเยาวชนมักจะมองว่าเรื่องของการเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่อยู่ห่างไกลตัว มองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ และก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่พอเราได้มาให้ความรู้และเชื่อมโยงโดยใช้บทเรียนต่างๆ เด็กก็จะรู้ว่าแม้กระทั่งเงินที่จะได้เป็นค่าขนมมาโรงเรียนมันก็เกี่ยวกับเรื่องการเมือง หรือการขึ้นราคาแก๊สหุงต้น ตรงนี้ก็เกี่ยวกับค่าข้าวในโรงเรียนที่อาจจะมีการขึ้นราคาได้ สิ่งเหล่านี้ก็เริ่มที่จะทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง” นายวิฑูรย์ระบุ
โดยโครงการนี้นอกจากจะมีการอบรมให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยให้กับแกนนำเยาวชนกว่า 30 คนจากสถานศึกษาจำนวน 10 แห่งในพื้นที่แล้ว ยังให้เด็กๆ ได้ลองปฏิบัติจริงในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชนผ่านการจัดรายการวิทยุ “รัฐสภาของเรา” ในช่วง “หนึ่งเสียงต้นกล้าประชาธิปไตย” ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์เวลา 17.00-18.00 น. ทาง สวท.ขอนแก่น และมีโจทย์ที่สำคัญคือนักเรียนแกนนำจะต้องไปขยายผลสร้างเครือข่ายวิทยาการต้นกล้าในโรงเรียนของตนเอง และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการเมืองการปกครองตามหลักประชาธิปไตยสู่เพื่อนและน้องๆ ในโรงเรียน
“วิทยากรต้นกล้าประชาธิปไตยในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการจะได้รับความรู้อยู่สองหมวดใหญ่ คือหนึ่งเรื่องของความรู้พื้นฐานด้านการเมืองการปกครอง และสองคือการปฏิบัติการของกิจกรรมการขยายความรู้เพื่อให้ความรู้กับเพื่อนๆ ผ่านเกมการเรียนรู้เมืองประชาธิปไตยจำลอง ซึ่งก็จะทำให้เพื่อนๆ ได้เกิดการเรียนรู้ประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันด้วย” นายวิฑูรย์กล่าว
สำหรับเครื่องมือที่ใช้สื่อความรู้และความเข้าใจในเรื่องของหลักประชาธิปไตยไปสู่เยาวชนในแต่ละโรงเรียนนั้น “นายวิฑูรย์” เลือกใช้เกม “เมืองประชาธิปไตย” หรือ Sim Democracy ที่มีรูปแบบ
การเล่นคล้ายคลึงกับ “เกมเศรษฐี” ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน และ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้หลักการของประชาธิปไตยผ่านการเล่นเกม ผ่านการสวมบทบาทของประชาชนและผู้บริหารประเทศ โดยวิทยากรแกนนำจะทำหน้าที่เป็น Play Coach ให้คำแนะนำในการเล่น และสอดแทรกความรู้เรื่องประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน ทำให้การเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยไม่ได้เป็นแค่การท่องจำ แต่เป็นการเรียนรู้อย่างสนุกสนานและเกิดความเข้าใจ
นายรัฐศาสตร์ ธรรมนิยม หรือ “น้องฟิวเจอร์” นักเรียนชั้น ม.5 ประธานนักเรียน และวิทยากรต้นกล้าประชาธิปไตย โรงเรียนของแก่นวิทยาลัย เล่าว่าเมื่อเข้าร่วมโครงการครั้งแรกก็ไม่คิดและว่าเด็กและเยาวชนจะมีบทบาทในเรื่องของประชาธิปไตยได้อย่างไร แต่ภายหลังก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน อย่างการเลือกตั้งประธานนักเรียนก็เป็นการฝึกในเรื่องประชาธิปไตยเบื้องต้น
“เกมเมืองประชาธิปไตยจะเป็นการจำลองเอาประเทศของเรามาไว้อย่างย่อๆ มีการเลือกนายกรัฐมนตรี มีการจัดเก็บภาษี มีการลงทุนพัฒนาในด้านต่างๆ มีการตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยระดมความคิดเห็นจากทีมผู้เล่นในการแก้ปัญหาร่วมกัน ซึ่งนอกจากสนุกแล้วยังได้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของหลักประชาธิปไตยและการบริหารบ้านเมือง” น้องฟิวเจอร์กล่าว
น.ส.ปิยกาญจณ์ สิงห์ขวา หรือ “น้องมิ้น” นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนของแก่นวิทยาลัย เล่าถึงสิ่งที่ได้จากการเล่นเกมเมืองประชาธิปไตยว่า ทำให้รู้หลักของการบริหารและการปกครองบ้านเมือง เพราะถ้าเรามีผู้บริหารที่ไม่ดี ไม่รู้จักจัดสรรงบประมาณ ก็ไม่รู้จักแก้ปัญหาต่างๆ ก็จะทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้น และทำให้เรามีหนี้สินเพิ่มขึ้น ดังนั้นเราจึงต้องใช้สิทธิ์ของเราเลือกผู้นำที่ดีให้ไปบริหารประเทศ
“เกมนี้นอกจากจะสนุกและยังได้เรียนรู้เรื่องของการเมืองการปกครองแล้ว ยังทำให้เรารู้จักการวางแผนในสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเราได้อีกด้วย เช่นการวางแผนการใช้สอยการใช้เงิน การเก็บออม การบริหารจัดการงานต่างๆ อีกด้วย” น้องมิ้นกล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเล่นเกม
น.ส.ปัญจรัตน์ หงส์โพธิ์ไชย หรือ “น้องกุ๊กกิ๊ก” นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนของแก่นวิทยาลัย เล่าว่า ประชาธิปไตยมีความเกี่ยวข้องกับทุกคนทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ถึงแม้ว่าในตอนนี้หลายๆ คนจะยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ในเรื่องนี้ เพื่อให้มีพื้นฐานที่ดีต่อไปในอนาคต เพราะหากเราไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยอย่างแท้จริงสังคมก็จะเกิดปัญหาและความวุ่นวาย
“เนื่องจากเรายังเป็นเด็กก็จะมีวิธีง่ายๆ ที่จะเผยแพร่ความรู้ในเรื่องนี้ อย่างเช่นการเล่นเกมเมืองประชาธิปไตย ก็จะทำให้ได้ทั้งความสนุกและได้ความรู้ไปในตัว ไม่ว่าจะเป็นการหาเสียง การเลือกตั้ง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ก็จะใช้โอกาสนี้สอนน้องๆ ในเรื่องประชาธิปไตย” น้องกุ๊กกิ๊กกล่าว
เดียวกันกับเพื่อนๆ ของเขา เพราะฉะนั้นเราก็คาดหวังว่า เยาวชนแกนนำก็จะไปสร้างความสนใจในการพาเพื่อนๆ มาเรียนรู้เรื่องของประชาธิปไตยโดยผ่านเกมการเรียนรู้ พอเกิดความสนใจและความเข้าใจแล้ว เมื่อเขาจะต้องมาเจอกับเหตุการณ์ต่างๆ ในสังคม เขาจะได้รู้บทบาทของตัวเอง โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดก็คือการเป็นพลเมืองที่ดีในหนทางประชาธิปไตย ดังนั้นเราจึงสร้างวิทยากรขึ้นมาเป็นวิทยากรต้นกล้าประชาธิปไตย โดยหวังที่จะให้เยาวชนกลุ่มนี้ได้ไปปลูกต้นไม้ประชาธิปไตยให้กับเพื่อนๆ เพื่อให้เราทุกคนได้มีบทบาทเป็นใบไม้ที่สำคัญอีกใบหนึ่งของต้นไม้ประชาธิปไตยต้นใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย” นายวิฑูรย์กล่าวสรุป.