กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ไอแอม พีอาร์
“ครูบนดอยดุจแสงหิ่งห้อยกลางป่า ขจัดความมืดนานา สร้างเสริมปัญญาคงมั่นฯ” ไม่ว่าจะผ่านกาลเวลาไปนานกว่าสองทศวรรษ แต่บางส่วนของเนื้อหาในบทเพลง “ครูบนดอย” ของ ‘ธารทิพย์ ถาวรศิริ’ ยังคงฉายให้เห็นภาพและโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยบนป่าเขาดงดอยแดนทุรกันดารได้อย่างแจ่มชัด โดยเฉพาะบทบาทของ “ครู” ที่เปรียบเสมือนแสงแห่งความหวังอันเรืองรองที่ส่องนำทาง “เด็กไทย” ให้ก้าวออกมาจากความมืดมนของความ “ด้อยโอกาส”
เพราะตระหนักถึงคำว่า “โอกาส” ที่เคยได้รับจาก “ครู” เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาอาชีวะของ “นายชัยยศ สุขต้อ” ครูศิลปะผู้ได้รับรางวัล “ทุนครูสอนดี” จึงทุ่มเทเวลากว่าค่อนชีวิตไปกับการดูแลเด็กด้อยโอกาสเพื่อ “สร้างโอกาส” ในการเรียนรู้ทักษะชีวิตด้านต่างๆ ให้กับเด็กนักเรียนชาวเขาบนดอยอันห่างไกลในพื้นที่ของ โรงเรียนบ้านยางเปา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ให้ได้รับการเติมเต็มในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบและสนใจ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานและกำลังใจที่สำคัญในการก้าวไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นไป เช่นเดียวกับแรงผลักดันจากความภาคภูมิใจกับที่ตนเองเคยได้รับมา
โครงการ “To Be Number One สร้างสรรค์ชีวิตและอาชีพ” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างเสริมทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตให้กับเด็กด้อยโอกาสบนดอยสูง เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีความสุขและสนุกกับการเรียน กล้าคิดกล้าแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง อันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเป็น “คนดี” ของสังคม
“เพราะนักเรียนทั้งหมดเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ซึ่งมีปัญหาเหมือนกับกลุ่มชนเผ่าอื่นๆ ก็คือมักจะไม่เก่งด้านวิชาการ เมื่อเขาเรียนไม่เก่งก็ไม่อยากมาเรียนเพราะมาแล้วไม่มีความสุข ดังนั้นทำยังไงให้นักเรียนมีความสุข ก็เลยนำเอาความสามารถที่ตัวเองถนัดคือด้านศิลปะมาถ่ายทอดให้นักเรียนได้แสดงออกสิ่งดีๆ ในเชิงบวก มีความสามารถพิเศษติดตัว เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง ประกอบกับเมื่อมาสอนในกลุ่มสาระวิชานี้ ซึ่งต้องมีวิชาดนตรีและนาฏศิลป์ด้วย จึงได้ไปหาซื้อแผ่นซีดีมาเรียนรู้ร่วมกันกับเด็กๆ แล้วก็คิดค้นท่ารำต่างๆ ออกมาให้เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน ส่วนกีฬาปิงปองเป็นกีฬาในร่มที่เล่นได้ทุกวันทุกเวลา จึงไปฝึกหัดและเรียนรู้เพิ่มเติมแล้วนำมาสอนให้กับเด็กๆ” ครูชัยยศกล่าว
โดยกิจกรรมหลักๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการนี้ประกอบไปด้วย “ดนตรี” “กีฬา” และ “ศิลปะ” ที่สามารถแบ่งย่อยออกไปได้มากมายตามความสนใจของเด็ก เช่น การวาดรูปสีน้ำ-สีโปสเตอร์, การวาดภาพลายเส้นขาวดำ, การเล่นกีฬาเทเบิลเทนนิสหรือปิงปอง, การฝึกทักษะการร้องเพลง ลูกทุ่ง, เพลงลูกกรุง, เพลงพระราชนิพนธ์, การเต้นรำประกอบจังหวะฯลฯ และที่เป็นเอกลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวของโรงเรียนแห่งนี้คือ “ระบำกระด้ง”
“ระบำกระด้งเกิดขึ้นจากวิถีการดำเนินชีวิตของชาวกระเหรี่ยง ตั้งแต่เช้ามาตำข้าว ฝัดข้าว จึงเอาเสน่ห์ตรงนี้มาเป็นจุดขาย นำท่าทางมาประกอบกับดนตรี เป็นท่ารำที่ช้าๆ ต่อมาก็เติมด้วยความ
สนุกสนาน และก็ดัดแปลงท่ารำบางส่วนมาจากวิถีชีวิตประจำวันของชนเผ่า มีการใช้เท้าขยับและเคลื่อนไหวประกอบการแสดง แล้วก็ใช้เป็นการแสดงของโรงเรียนให้นักเรียนได้ออกไปโชว์ความสามารถในงานต่างๆ ที่จัดขึ้นทั้งในระดับอำเภอและในระดับจังหวัด” ครูชัยยศกล่าว
นายจรัส สุพรรณ์ ผอ.รร.บ้านยางเปา กล่าวว่ากิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นนอกจากจะช่วยให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมในสิ่งที่ตัวเองสนใจและชื่นชอบแล้ว ยังส่งผลดีต่อการเรียนรู้ในด้านสาระวิชาการต่างๆ ด้วย เพราะเมื่อเด็กมีความสุขและสนุกที่จะมาโรงเรียน เขาก็จะได้รับความรู้กลับไปด้วยเช่นกัน
“เมื่อเด็กนักเรียนได้มีพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างสรรค์ ก็จะทำให้เขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และยังเป็นการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากปัญหายาเสพติดได้อีกทาง” ผอ.จรัส ระบุ
ในแต่ละวันถึงแม้จะต้องเดินลงเขาข้ามห้วยจากบ้านบนดอยมายังโรงเรียนเป็นระยะทางกว่า 7 กิโลเมตรทุกวัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ลูกศิษย์ของ “ครูชัยยศ” รู้สึกท้อ เพราะการมาโรงเรียนนอกจากพวกเขาจะได้มาเรียนรู้ในด้านทักษะวิชาการต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในอนาคตแล้ว ยังจะได้มาทำกิจกรรมสนุกๆ ที่ตนเองชื่นชอบร่วมกับเพื่อนๆ ในช่วงพักเที่ยงหรือก่อนกลับบ้าน และหากวันไหนที่ออกไปแสดงนอกพื้นที่หรือต้องซ้อมการแสดงต่างๆ จนเย็นค่ำ ครูบนดอยท่านนี้ก็ยังเดินฝ่าความมืดขึ้นดอยสูงชันเพื่อไปส่งลูกศิษย์ทุกคนจนถึงที่บ้าน แล้วจึงค่อยเดินกลับมายังโรงเรียนอีกครั้ง
นางสาวดาว บรรจงอเนก หรือ “น้องดาว” ศิษย์เก่าที่ได้รับ “ทุนครูเจ้าฟ้า” ไปศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 ของโรงเรียนอมก๋อยวิทยาคม เล่าว่าตลอดระยะเวลาที่ได้เรียนกับคุณครูชัยยศได้รับประสบการณ์จากการทำกิจกรรมต่างๆ เยอะมาก ได้ทั้งความรู้ ได้ทั้งเรื่องของมนุษย์สัมพันธ์ การทำงานร่วมกันคนอื่น การแบ่งเวลาในเรื่องของการเรียนและการทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบฯลฯ
“ดาวเป็นคนชอบร้องเพลงลูกทุ่ง และคุณครูก็จะพาไปร้องเพลงไปประกวดแข่งขันเป็นประจำเสมอๆ แม้จะยังไม่เคยได้รางวัลแต่ก็ไม่ท้อ เพราะการได้ไปร้องเพลงโชว์ก็รู้สึกภาคภูมิใจแล้ว และทุกครั้งไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามคุณครูก็จะคอยสอนและให้แง่คิดในการใช้ชีวิตตลอด” น้องดาวกล่าว
ด.ญ.โบโซ้ง ผลเชวง หรือ “น้องโบ” ที่ชื่นชอบในเรื่องของการวาดภาพลายเส้นขาวดำ โดยมีผลงานชนะเลิศการประกวดในระดับประเทศมาหลายรางวัล เล่าว่าถึงแม้จะต้องเดินเท้าไปกลับทุกวัน บางครั้งก็ต้องเปียกปอนเพราะฝนตกหนัก น้ำเซาะสะพานขาด แต่ก็ยังอยากที่จะมาโรงเรียนทุกวัน รวมไปถึงวันหยุดเพื่อที่จะได้ใช้เวลาในช่วงพักเที่ยงและหลักเลิกเรียนมาหัดวาดรูป
“คุณครูจะคอยให้คำแนะนำและวิธีการวาดที่ถูกต้อง และการวาดรูปยังทำให้เรามีสมาธิ ถ้าเรียนจบ ม.3 ก็อยากจะเรียนต่อในด้านศิลปะ เพราะถ้าหากเราวาดเก่งๆ ก็สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ แต่ในบางครั้งที่ทำกิจกรรมจนเย็นค่ำ ครูก็จะเดินไปส่งนักเรียนทุกคนจนถึงที่บ้าน” น้องโบกล่าว
“เด็กนักเรียนเมื่อไม่เก่งวิชาการแล้วเขาก็น่าที่จะมีความสามารถพิเศษเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเพื่อให้มีความสุขในการเรียน เพราะในเมื่อเขาขาดสิ่งหนึ่งก็น่าที่จะเติมได้ในอีกส่วนหนึ่ง ส่วนเป้าหมายจริงๆ แล้วยังคิดไปไม่ถึง เพียงแต่อยากที่จะทำวันนี้ตรงนี้ให้ดีที่สุดเท่านั้น ตอนนี้ขอแค่อยากให้นักเรียนเอาความรู้ที่ตัวเองมีเป็นพื้นฐานไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันข้างหน้า เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ว่าคนที่มีความรู้ย่อมได้เปรียบกว่าในการดำรงชีวิตแน่นอน” ครูชัยยศกล่าวสรุป.