กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้วยประเทศไทยได้มีการใช้งานระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียม ตั้งแต่ปี 2514 จนถึงปัจจุบัน โดยเรียกโดยรวมว่า “ระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ ระยะที่ 1” ซึ่งประกอบไปด้วยดาวเทียมไทยโชตและดาวเทียมของต่างประเทศอีกกว่า 20 ดวง ที่ประเทศไทยมีสถานีรับสัญญาณหรือมีสัญญากับเจ้าของดาวเทียมในการเข้าถึงข้อมูลภาพ ระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมนี้ได้สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งในด้านการเฝ้าระวังและติดตามภัยพิบัติ การวางแผนทางด้านการเกษตร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เช่น การติดตามสถานการณ์น้ำในเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 การติดตามคราบน้ำมันที่จังหวัดระยองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีอวกาศมีความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผู้ใช้งานมีความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการแบบเพิ่มค่าที่มีความซับซ้อนและสะดวกรวดเร็วในการใช้งาน จึงมีความจำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ ทั้งในด้านการบูรณาการแหล่งข้อมูลและภูมิสารสนเทศ ระบบประยุกต์และบริการผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขและความต้องการของผู้ใช้งานในแต่ละด้าน
ในการนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้ดำเนินโครงการการศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) และการจัดทำแผนธุรกิจ (Business Plan) ของ “ระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ ระยะที่ 2” โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เพื่อการจัดการน้ำและภัยพิบัติ การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การวางแผนพัฒนาและจัดการพื้นที่เมืองและระบบโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงและการทหาร ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงใคร่ขอเรียนเชิญท่านสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนาและให้ข้อคิดเห็นต่อการพัฒนาโครงการดังกล่าว ในวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2556 เวลา 09.00-12.00 น. ณ ห้องแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยโดยได้รับเกียรติจาก นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการเปิดงานสัมมนา นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขึ้นกล่าวรายงาน