กระทรวงวิทย์ฯ โดย สทน.ลงนามความร่วมมือ ปูนซีเมนต์นครหลวง

ข่าวทั่วไป Thursday October 31, 2013 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กระทรวงวิทย์ฯ โดย สทน.ลงนามความร่วมมือ ปูนซีเมนต์นครหลวงเพื่อร่วมออกแบบ ระบบกำบังรังสีนิวตรอนและแกมมาด้วยเทคโนโลยีคอนกรีตผสม เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและสถานประกอบการด้านรังสี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556 กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ ปูนซีเมนต์นครหลวง เพื่อร่วมมือใน “การออกแบบโครงสร้างระบบกำบังรังสีนิวตรอนและแกมมาด้วยเทคโนโลยีคอนกรีตผสม" เพื่อร่วมมือและผลักดันให้มีการพัฒนา การเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงานด้านรังสีให้มีความปลอดภัยสูงสุด และเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ถูกต้องตามหลักสากล ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย 1 ปรับปรับครั้งที่ 1 หรือ ปปว.-1/1 นั้น เป็นเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยหนึ่งเดียวของไทย มีการใช้งานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยได้ใช้ประโยชน์ในงานหลากหลายด้านอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตไอโซโทปรังสีเพื่อการแพทย์ การเปลี่ยนสีอัญมณี การวิเคราะห์ตัวอย่างทางอาหาร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ด้วยเทคนิค Neutron Activation Analysis หรือ NAA มานานกว่า 50 ปี หนึ่งในกิจกรรมการใช้ประโยชน์จากเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยนี้ คือ การถ่ายภาพด้วยนิวตรอน ซึ่งมีการใช้งานมากว่า 21 ปี กำลังจะมีแผนปรับปรุง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ถูกต้องตามหลักสากล และทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อรองรับงานวิจัยในปัจจุบันและอนาคต เช่น โครงการวิจัย Application of 3D Neutron Imaging and Tomography in Cultural Heritage หรือ “การประยุกต์การถ่ายภาพนิวตรอน 3 มิติ เพื่อมรดกทางวัฒนธรรม” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA ซึ่งหนึ่งในแผนปรับปรุงนั้นก็คือการทำกำแพงกำบังรังสีที่มีความมั่นคงและมีส่วนผสมที่ชัดเจน สามารถป้องกันอันตรายให้กับผู้ปฏิบัติงานทางรังสีให้ปลอดภัยได้ และการจัดทำกำแพงกำบังนี้ สทน. สามารถหาส่วนผสมที่ลงตัวทั้งยังเก็บเป็นข้อมูลเพื่อใช้สำหรับงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้ เพื่อให้งานวิจัยของ สทน. บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งขึ้น สทน. จึงจำเป็นต้องแสวงหาผู้เชี่ยวชาญด้านคอนกรีตเพื่อร่วมมือในการศึกษาดังกล่าว และได้เจรจาร่วมมือกับ บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่จะสามารถมาช่วยให้ สทน. ดำเนินการตามแผนที่วางไว้เพื่อปรับปรุงสถานที่ปฏิบัติการ การถ่ายภาพด้วยนิวตรอนภายในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยให้มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ และสามารถให้บริการต่อนักวิจัยทั้งภายในและภายนอกสถาบันฯ ได้ต่อไป โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ ได้พัฒนาโครงสร้างระบบกำบังรังสีนิวตรอนและแกมมาด้วยคอนกรีตผสมขึ้นมาใช้เองเพื่อให้เหมาะกับสภาพเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัยของไทยในปัจจุบัน และเป็นองค์ความรู้ซึ่งสามารถถ่ายทอดไปสู่งานด้านนิวเคลียร์และด้านอื่นๆ รวมทั้งประยุกต์เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต สำหรับหน่วยงานที่มีการใช้ต้นกำเนิดรังสี เช่น โรงพยาบาล, โรงงานอุตสาหกรรม และมหาวิทยาลัย เป็นต้น ดังนั้นงานคอนกรีตจากผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นระบบความปลอดภัยอีกด้านหนึ่ง เพื่อให้การทำงานที่ได้ประสิทธิผลของผู้ปฏิบัติงานทางด้านรังสีที่ สทน. ให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ