สื่อสร้างสุขอุบลจับมือชาวบ้านโนนศิริอบรมผลิตหนังสั้นรณรงค์เกษตรอินทรีย์

ข่าวทั่วไป Thursday October 31, 2013 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลฯจับมือเครือข่าย รุกชุมชนโนนศิริ พิบูลมังสาหาร ฝึกอบรมเยาวชน- ชาวนาทำหนังสั้นสะท้อนพิภัยสารเคมีทางการเกษตร นักวิชาการชี้ยาฆ่าแมลง 100 กก.ฉีดโดนแมลงแค่ 1 กก.อีก 99 กก.ตกค้างในดิน น้ำ อากาศ ยาวนานถึง 20 ปี ผลกระทบตกที่ชาวบ้านทั้งสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ด้านเกษตรกรอินทรีย์จวกทุนนิยมหลอกชาวนายิ่งใช้สารเคมียิ่งยากจน ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองเป็นแค่ภาพฝัน แนะเกษตรอินทรีย์คือทางออก โดยชาวนาต้องมีความรู้ หมั่นสังเกต ทดลอง ลงมือปฏิบัติไม่เชื่อใครง่ายๆ เมื่อวันที่ 26-27 ตุลาคม 2556 ณ ศาลากลางบ้านหมู่ 10 บ้านโนนศิริ ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี สื่อสร้างสุขอุบลราชธานี โดยโครงการสื่อเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงความมั่นคงทางอาหารจังหวัดอุบลราชธานี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการเสริมศักยภาพเกษตรกรด้านเกษตรอินทรีย์เพื่อความมั่นคงทางอาหารและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจังหวัดอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี จัดอบรมเกษตรกรและเยาวชนในตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ผลิตสื่อหนังสั้นรู้เท่าทันสารเคมีทางการเกษตร โดยมีเกษตรกรและเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 30 คน นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้อำนวยการสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี กล่าวว่าการอบรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกษตรกรผ่านรูปแบบการผลิตสื่อหนังสั้น ให้รู้เท่าทันพิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรทั้งปุ๋ยเคมี ยาฆ่าหญ้า และสารกำจัดศัตรูพืชอื่นๆ และมีทักษะการคิดบท ถ่ายทำ และตัดต่อเบื้องต้นจนสามารถผลิตหนังสั้นเกษตรอินทรีย์ออกมาเพื่อสื่อสารต่อสังคมได้ โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้จากหลากหลายหน่วยงาน ได้แก่ ดร.สังวาล สมบูรณ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ในหัวข้อ รู้เท่าทันสารเคมีทางการเกษตร คุณจุฬาพร คำรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ในหัวข้อ ผลกระทบสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร และนายปิยะทัศน์ ทัศนิยม เกษตรกรอินทรีย์จากบ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง ที่มาชี้ทางออกอย่างเป็นรูปธรรมคือชาวนาต้องกลับมาทำนาอินทรีย์ และให้ความรู้เทคนิคการผลิตวิดีทัศน์ ทั้งการคิดบท ถ่ายทำ ตัดต่อ จากทีมงานสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี หลังจากนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้ได้สื่อวิดิทัศน์ จำนวน 5 เรื่องไปเผยแพร่ในชุมชน และผ่านสื่อต่างๆ คุณจุฬาพร คำรัตน์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่าในประเทศไทยไม่มีการค้นคว้าวิจัยข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพจากสารเคมีทางการเกษตรอย่างจริงจัง ทำให้มีข้อมูลมาอ้างอิงหรือนำเสนอน้อยมาก ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพ สารเคมีทางการเกษตร โดยเฉพาะยาฆ่าหญ้า ยากำจัดวัชพืช มีผลต่อระบบประสาท ทำให้เด็กมีสมาธิสั้น มีรูปร่างพิการ ระบบต่อมไร้ท่อทำให้น้ำเชื้ออสุจิมีจำนวนลดลง ส่งผลให้เป็นหมันหรือมีบุตรยาก ส่วนผู้หญิงก็ประสบภาวะแท้งค์หรือมีบุตรได้ยากเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลยืนยันว่าในการฉีดสารเคมีกำจัดศรัตรูพืช 100 กิโลกรัม จะปลิวถูกแมลงเพียง 1 กิโลกรัม อีก 99 กิโลกรัมตกค้างในพืช ดิน น้ำและอากาศ ยิ่งเกษตรกรใช้สารเคมีมากเท่าไหร่ ยิ่งตกค้างในสิ่งแวดล้อมมากเท่านั้น บางครั้งไม่เกิดผลในทันที แต่จะตกค้างในดิน น้ำยาวนาน 10-20 ปี ผลกระทบที่ตามมาเห็นได้ชัด คือ กรณีเห็ดพิษ เป็นเห็ดที่ชาวบ้านเคยเก็บมาประกอบอาหารสืบต่อหลายชั่วอายุคน แต่ปัจจุบันกลายเป็นเห็ดพิษที่รับประทานไม่ได้ นายปิยะทัศน์ ทัศนิยม เกษตรกรอินทรีย์ บ้านหนองมัง ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง กล่าวว่าเกษตรกรหรือคนรากหญ้าตกเป็นเครื่องมือทุนนิยมที่กระตุ้นให้เราบริโภคผ่านสื่อ เรียนหนังสือก็สอนให้ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร N P K ที่กระตุ้นให้พืชผักมีลำต้นใหญ่ รากหาอาหารได้เร็ว ผลผลิตมีคุณภาพ รูปร่างสวยงามน่ารับประทาน แต่ทุนนิยมบอกความจริงไม่หมด การใช้สารเคมีทำให้บริษัททุนร่ำรวยขึ้นทุกวัน แต่ชีวิตชาวนานับวันจะยากจนลงเรื่อยๆ คำว่าชุมชนเข้มแข็งจึงเป็นแค่ภาพ แต่ในความเป็นจริงในชุมชนพึ่งพาภายนอกทุกอย่าง เห็นได้ชัดจากการขายข้าว ถ้าหากชาวนายังขายข้าวเปลือกให้นายทุนไปสีเป็นข้าวสารขายเพื่อเอากำไร ชาวนายากจนถึงวันตายแน่นอน ทางออกปัญหานี้คือการทำนาอินทรีย์ที่คนทำนาต้องมีอุดมการณ์ ความมุ่งมั่น ความใฝ่รู้ใฝ่เรียนในหลายๆเรื่อง เช่นเรื่องการตลาด การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า หรือรู้จักการเป็นพ่อค้าหรือผู้ประกอบการควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ต้องรู้จักสังเกต หาข้อมูล ทดลองปฏิบัติ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ หรือมีคุณสมบัติเหมือนนักวิทยาศาสตร์นั่นเอง ในส่วนตัวเคยทำเกษตรเคมี แล้วประสบปัญหาด้านสุขภาพ ป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล จึงฉุกคิดว่าจะทำเกษตรอย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพตัวเอง จากนั้นได้หาข้อมูล ความรู้และทดลองทำเรื่อยๆ จนปัจจุบันได้เข้าสู่กระบวนการเกษตรอินทรีย์อย่างครบวงจร ทั้งทำนาและปลูกพืชผักควบคู่กัน ทำให้มีรายได้ดีมาก เช่น หอมมะลิแดงขายปลีกให้แก่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลในราคาตันละ 120,000 บาท ขายกระเทียมปลีกให้ห้างท็อปซุปเปอร์มาเก็ต ราคาสูงถึงตันละ 200,000 บาท ขายข้าวหอมมะลิแดงกิโลกรัมละ 22 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ จากนั้นผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้เทคนิคการเขียนบท ถ่ายทำ และตัดต่อ และได้แบ่งกลุ่มลงมือปฏิบัติการถ่ายทำหนังสั้น โดยคนในชุมชนมีส่วนร่วมทั้งคิดบท นักแสดง ถ่ายทำ และตัดต่อ จนได้ผลงานหนังสั้น 4 เรื่อง และสกู๊ปข่าว 1 ชิ้น ได้แก่ เรื่อง “ปอบ” ที่บอกเล่าการเสียชีวิตของคนในหมู่บ้านอย่างไม่มีสาเหตุ ชาวบ้านต่างจับตาดูคนในหมู่บ้านว่าใครจะเป็นปอบ ซึ่งต่างก็พากันสงสัยนางสาชาวนาท้ายหมู่บ้านที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร จากนั้นได้รวมตัวกันไปหาหมอผีเพื่อขับไล่ ในที่สุดความจริงก็กระจ่าง เพราะนางสาเป็นคนเดียวรู้ว่าทุกคนที่ตายเป็นคนที่ไปฉีดยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงในนาข้าว โดยมีหลักฐานคือกระป๋องสารเคมีวางอยู่ตามท้องนา เรื่อง “ไป” ที่เล่าถึงการสูญเสียพ่อของเด็กหญิงในหมู่บ้าน จากสาเหตุของการใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างเศร้าสลด แกมร้องขอให้พ่อตัวเองเป็นชีวิตสุดท้ายที่จะสังเวยให้กับการใช้สารเคมี เรื่อง “จ้ำแจ่ว” ที่หยิบยกเอาวิถีชีวิตการกินอยู่ในมุมเล็กๆ มาสะท้อนเรื่องราวใหญ่ๆอย่างเกษตรอินทรีย์ ด้วยการเปรียบเทียบอาหารการกินของคนสองครัวเรือนระหว่างคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรเคมี และเรื่องสุดท้าย “ฉีด ฉีด ฉีด เข้าไป” ที่สะท้อนผลกระทบจากการฉีดยาฆ่าแมลง ทำให้ลูกป่วยกระทันหัน เป็นจุดเปลี่ยนให้ครอบครัวเลิกใช้สารเคมี จากนั้นได้ฉายสื่อหนังสั้นและสกู๊ปข่าวให้คนในชุมชนดูก่อนจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งนายสอน วงศ์อินทร์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านโนนศิริ กล่าวว่าหนังสั้นเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เข้าถึงชาวบ้านได้ดี โดยเฉพาะโครงการนี้ เป็นการทำหนังสั้นที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการผลิตทุกขั้นตอน ทำให้ชาวบ้านดูแล้วเกิดความสนุกสนาน สอดแทรกเนื้อหารู้เท่าทันโทษ พิษภัยของสารเคมีทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี ติดตามชมหนังสั้นดังกล่าวได้ทางช่อง sangsook channel V cable TV และ You tube ค้นหาช่อง sangsookubon

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ