กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--Ripple effect
5 จิวเวอร์รี่แบรนด์ชั้นนำ จัดแสดงผลงานของดีไซน์เนอร์ไทยรุ่นใหม่ ที่ชนะเวทีประกวดของสถาบันการศึกษา GIA ประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี
มร.เคนเนท สคาร์แรทท์ กรรมการผู้จัดการสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (จีไอเอ) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและตรวจวิเคราะห์อัญมณี จีไอเอ ประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการจัด โครงการประกวดเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดนักออกแบบเครื่องประดับอัญมณีชั้นนำที่เป็นชาวไทย ภายใต้แนวคิด “Create Your Own Legacy” เนื่องในโอกาสที่สถาบันการศึกษาจีไอเอ เปิดดำเนินการในประเทศไทย ครบรอบ 20 ปี ปรากฏว่า ได้รับความสนใจ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
ประการแรกโครงการนี้ได้รับการสนองตอบทันทีจาก 5 จิวเวอร์รี่แบรนด์ชั้นนำ อย่าง บิวตี้เจมส์ บลูริเวอร์ ฟาดามัส โมอาว็าด และ เซตเต้ ที่จะเข้ามีส่วนร่วมในโครงการตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงขั้นตอนตัดสิน ขั้นตอนการให้คำแนะนำ และขึ้นรูปอัญมณีสำหรับ 5 ผลงานที่มีความโดดเด่นใน 3 ด้านคือ ความรู้และเข้าใจในศาสตร์แห่งอัญมณี ความสร้างสรรค์ และความเข้าใจเชิงพาณิชย์ ที่หมายถึงว่าชิ้นงานนั้นสามารถพัฒนาขึ้นรูปได้จริง มีความโดดเด่น ดึงดูดผู้ซื้อ
ประการที่สอง แม้โครงการนี้จะถูกจัดเป็นครั้งแรกหากมีผู้ส่งผลงานทั้งในส่วนของประชาชน และนักศึกษาถึง 298 ชิ้น นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า คนไทยมีความสนใจ และมีความสามารถในด้านการออกแบบ และประการสุดท้าย คือ 2 ผู้มีผลงานเข้ารอบประกวดของโครงการนี้ ได้รับโอกาสเข้าร่วมงานกับจิวเวอร์รี่แบรนด์ชั้นนำ และ ดีไซเนอร์ระดับโลก อย่าง เจมส์ ดับบลิว เคอเรนส์ ดีไซเนอร์ ที่ผลงานล่าสุดได้รับการประมูลในราคาสูงที่สุดของสถาบัน ประมูลคริสตีส์ ฮ่องกง รวมทั้งหนึ่งในผลงานที่ชนะเลิศได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ชุด ที่โมอาว็าดจะนำไปจัดแสดงที่งาน Wedding Fair ณ ประเทศบาห์เรน ในเดือนพฤศจิกายน 2556
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีและภูมิใจของ จีไอเอ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงจะตรงวัตถุประสงค์หากยังส่งผลให้นักออกแบบเครื่องประดับอัญมณีชาวไทยรุ่นใหม่ ได้มีกำลังใจ และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพยิ่งขึ้น” มร.เคนเนท กล่าว
สำหรับขั้นตอนคัดเลือกของโครงการตลอดระยะเวลา 5 เดือน (31 พฤษภาคม - 30 ตุลาคม) คือ คณะกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทำการคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้ามาถึง 298 ชิ้น ให้เหลือเพียง 21 ชิ้น จากนั้นผู้เข้ารอบของทั้ง 21 ชิ้น จะต้องเข้ารับการอบรมในรูปแบบเวิร์คช็อปด้านอัญมณีศาสตร์และการออกแบบเป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อให้มีความรู้และเข้าใจยิ่งขึ้น จากนั้นจะมีโอกาสได้ปรับแก้ไขแบบให้ถูกต้อง ก่อนเข้าสู่การคัดเลือกรอบสุดท้ายให้เหลือเพียง 5 ชิ้นงาน
ทั้งนี้คณะกรรมการตัดสินจะประกอบด้วย ผู้บริหารของ 5 จิวเวอร์รี่แบรนด์ คือ สุริยน ศรีอรทัยกุล (บิวตี้เจมส์) , ประสิทธิ์ วชิรัคศศวกุล (ฟาดามัส) , เฟรด โมอาว็าด (โมอาว็าด) , พีรพรรณ สงวนปิยะพันธ์ (เซตเต้) , ณิชยา ธรรมาวรานุคุปต์ เอครพานิช (บลูริเวอร์) , ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ นักวิชาการ และนักการตลาดด้านอัญมณีศาสตร์ ประกอบด้วย ดวง โปษยานนท์ (ดีไซเนอร์) , กุลธิรัตน์ มีสายญาติ (แบรนด์กาวาง) , สุพัตรา ศรีสุข (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ) , รศ.ดร.กาญจนา ชูครุวงศ์ (ที่ปรึกษาด้านการศึกษาอัญมณีศาสตร์) และ ศรีอุไร ปรีชาศิลป์ (ที่ปรึกษาด้านการตลาด)
5 ผลงานที่ได้รับเลือก มีดังนี้
You clothe me แรงบันดาลใจจากผ้าทอมือ ลวดลายและศิลปะการทอผ้าภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ถ่ายทอดต่อๆกัน จากรุ่นสู่รุ่น นำมาสู่เครื่องประดับในรูปแบบผ้าปกคลุม
Design : นายณัฐวัตร ศรีนุ่น
Setting : Fadamas
ใบตอง แรงบันดาลใจจากใบตอง ใบไม้ที่ไม่โดดเด่นแต่มีประโยชน์ในการใช้สอย เป็นตัวแทนของคนที่มีความดีงามเปล่งประกายอยู่ภายใน
Design : นางสาวสุทัตตา จันทร์รุ่งโรจน์
Setting : Beauty Gems
Ratchaphuek Collection แรงบันดาลใจจาก ราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย ที่เป็นพวงห้อยระย้าสวยงาม
Design : นางสาวโรจริน นันทวิสุทธิวงศ์
Setting : Blue River
Mangrove Forest แรงบันดาลใจจากป่าชายเลน ที่ใช้ “ราก” ของต้นโกงกางที่เป็นเอกลักษณ์ มาออกแบบในรูปเครื่องประดับ
Design : นางสาวศุภรานันท์ กาญจนกุล
Setting : Sette
Fan Fantastic (revolution) แรงบันดาลใจจากตาลปัตรใบโพธิ์ พัดยศอันเป็นของสูงบ่งบอกถึงฐานันดร อันสูงศักดิ์
Design : นายทรงศักดิ์ ศิริมาตร์พรชัย
Setting : Mouawad