กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--ไอแอมพีอาร์
จากสถิติของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยปี 2555 พบว่าประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุทั่วประเทศรวมกว่า 8 ล้านคน ในขณะที่องค์การสหประชาชาติได้นิยามไว้ว่า ประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนร้อยละ 10 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่าร้อยละ 7 ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และหากสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรืออายุ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ 14 ประเทศนั้นจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ช่วยให้ผู้สูงวัยมีอายุยืนยาวมากยิ่งขึ้น โดยประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเรียบร้อยแล้ว และคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในไม่ช้า คนส่วนใหญ่คาดหวังว่าในวัยเกษียณน่าจะเป็นวัยที่ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขและไม่ต้องวุ่นวายกับสภาวะแวดล้อมมากนัก แต่ความเป็นจริงผู้สูงอายุกลับต้องเผชิญกับปัญหายุ่งยากไม่ต่างกับคนในวัยอื่นๆ เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้เตรียมพร้อมกับชีวิตในวัยสูงอายุไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจรัดตัว ผู้สูงอายุไม่สามารถอาศัยอยู่กับลูกหลานได้เหมือนสมัยก่อน สิ่งเหล่านี้จึงยิ่งเพิ่มความยากลำบากและความเครียดให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น
แพทย์หญิงภัทรวรรณ ขันธ์แก้ว จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า เมื่ออายุมากขึ้นหรือแก่ขึ้นก็มักจะเกิดความเจ็บป่วยทางกายหลายประการ เช่น ปัญหาความจำ ปัญหาเกี่ยวกับไขข้อและกระดูก ปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น-ได้ยิน การกลั้นปัสสาวะไม่ได้ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ ปัญหาทางกายภาพเหล่านี้นอกจากจะทำให้ชีวิตและกิจกรรมที่เคยทำของผู้สูงอายุเปลี่ยนไป โรคเหล่านี้ยังส่งผลต่อภาวะจิตใจจนอาจกลายเป็นปัญหาทางอารมณ์ได้อีกด้วย
“สาเหตุของปัญหาความเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ นอกจากจะเป็นผลกระทบจากความเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย ทั้งปัญหาด้านการเงินและความไม่มั่นคงของชีวิต โดยสังคมปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะไม่จ้างคนอายุ 45 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน อีกทั้งไม่มีหน่วยงานใดให้ความสำคัญกับการจ้างงานผู้สูงอายุ เพราะเชื่องช้า ไม่คล่องแคล่ว จึงน่าจะอยู่ในครอบครัวมากกว่าที่จะออกไปทำงานนอกบ้าน จึงพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ในที่สุดจึงถูกมองว่าเป็นภาระของครอบครัวและสังคม ประกอบกับการสูญเสียเพื่อนวัยเดียวกัน และความยากลำบากในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความวิตกกังวล ผิดหวัง ท้อแท้ใจ เบื่อหน่ายจนกลายเป็นโรควิตกกังวลหรือโรคซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ดังนั้นทุกคนควรตระหนักว่าปัญหาของผู้สูงอายุก็เป็นปัญหาของตนเอง เพราะมนุษย์ทุกคนต่างต้องชราไปตามธรรมชาติ จึงควรช่วยกันดูแลเอาใจใส่และผลักดันให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งกายและใจ” จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าว
สำหรับครอบครัวที่ยังมีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่คอยเป็นกำลังใจและเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ลูกหลานควรให้การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว หากมีปัญหาสุขภาพควรดูแลให้การรักษาแต่เนิ่นๆ มีการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและสุขภาพใจควบคู่กัน ในขณะเดียวกันสังคมควรมองผู้สูงอายุด้วยความเมตตาและให้ความช่วยเหลือด้วยความเต็มใจ
พญ.ภัทรวรรณ ยังกล่าวอีกว่า ในวัยหนุ่มวัยสาวที่ชีวิตเป็นช่วงขาขึ้น ก็ต้องฝึกวางแผนการใช้ชีวิตในแต่ละช่วงชีวิตให้ดี เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุขมากขึ้น โดยเริ่มต้นจากวางแผนการเงินในอนาคต วางแผนเรื่องที่อยู่อาศัย ทำงานอดิเรกที่ชอบ พร้อมพัฒนาอารมณ์ให้มั่นคง มีความคิดให้เป็นผู้ใหญ่สมวัยในด้านการดำเนินชีวิต ต้องรู้จักหาความสุขและความสนุกสนานได้เสมอจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น กับเพื่อนฝูง กับครอบครัว กับอาชีพการงานที่ทำอยู่ พร้อมกับพัฒนาตัวเองให้มีใจเมตตากรุณา เป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ มีความสามารถในการประนีประนอมและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากเราพัฒนาไปเรื่อยๆ ก็จะทำให้เราสามารถปรับตัวในวัยสูงอายุได้ดีขึ้น
“เมื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้ตนเองแล้ว ก็ควรเผื่อแผ่สู่สังคมด้วยการช่วยกันรณรงค์เรื่องปัญหาผู้สูงอายุ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้สูงอายุเสียใหม่แทนที่จะมองว่าเป็นภาระครอบครัวและสังคม แล้วหันมาให้ความเห็นอกเห็นใจและทำกิจกรรมที่สนุกสนานและเป็นประโยชน์ร่วมกัน” จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ
สำหรับผู้ที่ก้าวเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว แม้จะไม่ได้เตรียมตัววางแผนใดๆ มาก่อน ก็สามารถปฏิบัติตนให้มีความสุขได้ด้วยการยอมรับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ปัจจุบัน ค้นหาเพื่อนใหม่ๆ เพื่อทดแทนเพื่อนเก่าๆ ที่จากไปแล้ว พร้อมปรับความคิดให้รู้จักยืดหยุ่นและปรับตัวได้ตามยุคสมัย ลดการบ่นหรือการตำหนิติเตียนลูกหลานหรือคนรุ่นใหม่ แต่งกายให้สะอาดดูดี สวยหล่อสมวัย ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ รักษาอารมณ์ให้สดชื่นอยู่เสมอ และอย่ากังวลเรื่องความตาย เพราะทุกคนต้องตายเหมือนกัน ให้คิดว่าเกิดมาก็ต้องตายกันทุกคน ไม่อาจหนีพ้นได้
“วัยสูงอายุเป็นวัยทองของชีวิต จงทำใจให้พอใจกับสภาพชีวิตปัจจุบันแม้จะลำบากทางกายอย่างไรแต่ก็ต้องทำใจให้เป็นสุข ส่วนโรคภัยไข้เจ็บทางกายหากสามารถรักษาได้ต้องไปรักษาต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับการรักษาทางจิตใจและอารมณ์ต้องทำควบคู่กันไป” จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวสรุป