กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์
กฟผ. แต่งตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ในการศึกษาการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ ซึ่งเป็นกองทุนโรงไฟฟ้ากองแรกของประเทศไทย เป็นทางเลือกใหม่ในการหาแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในการขยายงานในอนาคต และช่วยลดหนี้สาธารณะของประเทศ ย้ำมิใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังมีนโยบายในการจัดหาแหล่งเงินทุนทางเลือกใหม่ เพื่อให้สามารถจัดหาเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยไม่ติดข้อจำกัดด้วยภาระหนี้ของประเทศ กระทรวงการคลังโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงมีนโยบายให้ กฟผ. พิจารณาใช้แหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดำเนินการตามแนวนโยบายดังกล่าว กฟผ. จึงมีแผนจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้รายได้หรือกระแสเงินสดในอนาคตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือเป็นทรัพย์สินในการระดมทุน โดยจะนำเงินจากการระดมทุนนี้ไปลงทุนในการพัฒนา โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโครงการขยายระบบส่งของ กฟผ. เสริมสร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ อันจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนแบ่งเบาภาระการคลังของรัฐบาล โดย กฟผ. ได้แต่งตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ให้เป็นที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อทำการศึกษา กำหนดโครงสร้าง และแนวทางในการจัดตั้งกองทุน ที่จะเป็นทางเลือกในการระดมทุนโดยไม่ก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่ม ซึ่ง กฟผ. ยังคงเป็นเจ้าของและมีอำนาจในการบริหารจัดการแผนการเดินเครื่อง และการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือเหมือนเดิม ทั้งนี้ รูปแบบโครงสร้างและแนวทางในการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ จะถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือในการระดมเงินทุนเท่านั้น ไม่นำไปสู่การแปรรูป กฟผ.
แต่อย่างใด โดยในเบื้องต้นได้ประมาณขนาดของกองทุนรวมฯ ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท และมีอายุกองทุน 15 - 25 ปี”
นายอาทิตย์ นันทวิทยา รองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินในการศึกษาการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ กฟผ. ธนาคารมีความยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจาก กฟผ. โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณากำหนดรูปแบบ โครงสร้าง แนวทางการระดมทุนผ่านกองทุนรวมฯ ทั้งนี้ธนาคารมีความเห็นว่า กองทุนรวมฯ ควรมีโครงสร้างและรูปแบบที่มีความสมดุลระหว่างขนาดของกองทุนรวมฯ และผลตอบแทนแก่นักลงทุนที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีผลกระทบทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อ กฟผ. เช่น ในด้านต้นทุนในการระดมทุน หรือค่าไฟฟ้า เป็นต้น และมุ่งเน้นการเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมฯ ให้แก่นักลงทุนในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถศึกษารูปแบบการจัดตั้งกองทุนรวมฯ แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา และสามารถเสนอขายได้ภายใน 180 วัน หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนรวมฯ”