ชมรมโรคเอ็มพีเอ็นแห่งประเทศไทยพร้อมประกาศจัดงานสัมมนา “เม็ดเลือดสูง มฤตยูเงียบ” เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday November 1, 2013 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--คอร์ แอนด์ พีค ชมรมโรคเอ็มพีเอ็น แห่งประเทศไทย (Thai MPN working group) เป็นการรวมตัวกันของโลหิตแพทย์ที่มีความมีความสนใจ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางโรค MPN (Myeloproliferative Neoplasms) เผย ม้ามโต ซีด และเหงื่ออกมากตอนกลางคืน อาการเด่นของโรคเอ็มพีเอ็น ที่ทำให้ผู้ป่วยทนทรมาร และอาจถึงแก่ชีวิตได้จากภาวะแทรกซ้อนอื่นตามมา พร้อมประกาศจัดงานสัมมนา “เม็ดเลือดสูง มฤตยูเงียบ” ในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องประชุมพิธีการชั้น 10 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เวลา 09.00-12.00 น. เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็น โดยเฉพาะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ผศ.นพ.นพดล ศิริธนารัตนกุล ประธานชมรมโรคเอ็มพีเอ็น (MPN) แห่งประเทศไทย (Thai MPN Working Group) กล่าวว่า โรคเอ็มพีเอ็น เป็นการเรียกชื่อรวมของมะเร็งโรคเลือด ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดเลือด นำไปสู่การผลิตเซลล์เม็ดเลือดมากเกินปรกติอย่างรวดเร็ว สามารถแบ่งเป็นแบบที่มีฟิลาเดลเฟีย โครโมโซม คือมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) และไม่มีฟิลาเดลเฟียโครโมโซม หรือที่เรียกว่า Philadelphia-chromosome negative ในที่นี้จะกล่าวถึงแบบที่ไม่มีฟิลาเดลเฟียโครโมโซม ซึ่งสามารถแบ่งย่อยเป็น 3 โรคที่พบค่อนข้างบ่อย โดยขึ้นกับชนิดของเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติและอุบัติการณ์ของโรค ได้แก่ 1. โรคเลือดข้น (PV) คือร่างกายมีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ อุบัติการณ์ 2 ราย ต่อประชากร 100,000 คนต่อปี 2. โรคเกล็ดเลือดสูง (ET) ร่างกายมีการผลิตเกล็ดเลือดมากว่าปกติ อุบัติการณ์ 1.5-3 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี และ 3. โรคพังผืดในไขกระดูก (MF) มีการสร้างพังผืดในไขกระดูกซึ่งส่งผลให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงได้ตามปกติ อุบัติการณ์ 0.4-1.46 รายต่อประชากร 100,000 คนต่อปี สำหรับผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็น อาจจะมีอาการหรือไม่มีก็ได้ โดยอาการที่แสดงของโรคจะแตกต่างกัน แม้จะอยู่ในสภาวะโรคเดียวกัน อย่างไรก็ตามมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า(Fatigue), ซีดจาง (Anemia) , คัน (ltching), เหงื่อออกมากผิดปกติในตอนกลางคืน (Night sweat) และปวดกระดูก (Bone pain) บางรายอาจมีไข้ และน้ำหนักลด เป็นต้น ซึ่งสามารถเรียกอาการเหล่านี้ได้ว่าเป็น Constitutional symptoms ในผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนเรื่องลิ่มเลือดอุดตัน ผู้ป่วยโรคเอ็มพีเอ็น บางรายมีการกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลัน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้องจากม้ามโต (Splenomegaly) ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เกิดความยากลำบากในการดำรงชีวิต ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ โรคนี้มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก โดยเป้าหมายของการรักษาโรคเอ็มพีเอ็นนี้คือการบรรเทาอาการ และลดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเอ็มพีเอ็น รวมถึงทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ปัจจุบันการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ การรักษาด้วยยา การปลูกถ่ายไขกระดูก (Bone Marrow or stem cell transplant) การนำเลือดออกจากร่างกาย (phlebotomy) การให้เลือดแก่ผู้ป่วยที่มีภาวะซีด ซึ่งทั้งนี้การรักษาจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับสภาวะและความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะผู้ป่วยควรควบคุมไขมันในเลือดและงดสูบบุหรี่ซึ่งเป็นตัวการทำให้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันเกิดมากขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างสม่ำเสมอ ในปีนี้ทางชมรมโรคเอ็มพีเอ็น (MPN) แห่งประเทศไทยจะจัดงานสัมมนาในชื่อ “เม็ดเลือดสูง มฤตยูเงียบ” ในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องประชุมพิธีการ ชั้น10 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลพระมงกุฏเก้า เวลา 09.00-12.00 น. ผู้ป่วย ญาติ หรือผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน สำรองที่นั่งได้ที่คุณปัญจนา โทร. 0-86-008-2898 หรือ อีเมล์ toon.punjana@octopuscommn.co.th
แท็ก SMS  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ