ไทยลงนามความร่วมมือโครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS)

ข่าวทั่วไป Friday April 24, 1998 10:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--24 เม.ย.--กระทรวงคมนาคม
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2541 เวลา 10.00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีนายชวน หลีกภัย ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามอย่างเป็นทางการ (Oficial Signing) ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความร่วมมือในโครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) และกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมให้การต้อนรับและเป็นสักขีพยาน ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพัฒนาความร่วมมือในสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ และการนำมาใช้ประโยชน์โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการใช้งานอย่างสันติบนพื้นฐานของความเสมอภาคอันเป็นการธำรงไว้ ซึ่งประโยชน์ร่วมกันที่เกิดจากการร่วมมืออย่างใกล้ชิด
โครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็กกำลังจะเป็นรูปร่างในอนาคตอันใกล้ จากการร่วมลงนามของ 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อิหร่าน ปากีสถาน เกาหลีใต้ มองโกเลีย และประเทศไทย บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็ก (SMMS) นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินงาน ซึ่งประเทศไทยได้สนใจที่จะลงทุนในการบรรทุก (Payload) ของอุปกรณ์การสื่อสารย่านความถี่ เค เอ (20 - 30 กิ๊กะเฮิร์ท) หลังจากที่บันทึกความเข้าใจมีผลบังคับใช้จะได้มีการประชุมคณะกรรมการโครงการเพื่อดำเนินงาน (Project Committee) ในวันที่ 23 - 24 เมษายน 2541 ทั้งนี้ วิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ ของไทยจะได้ใช้ความรู้ และประสบการณ์เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็กในส่วนที่ไทยรับผิดชอบ
ผลประโยชน์ของโครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็กที่ประเทศไทยจะได้รับ
1. ทำให้ประเทศไทยสามารถพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยีอวกาศ สร้างงานให้คนในชาติ
2. พัฒนาเทคโนโลยีทางดาวเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารในย่านความถี่ เค เอ
3. เป็นรากฐานและกระตุ้นให้เยาวชนของชาติมีความเชื่อมั่นและสนใจต่อกิจการอวกาศ ซึ่งจะเป็น
ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าของประเทศในอนาคต
4. เรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ และการประสานงานร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ
5. สามารถนำเทคโนโลยีไปพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการแพทย์ พัฒนาอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์ด้านพลเรือน
6. สร้างศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งชาติ
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการดาวเทียมอเนกประสงค์ขนาดเล็กกับประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
2. เพื่อให้ประเทศไทยจัดสร้างอุปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารระบบย่านความถี่ เค เอ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (2542 - 2544)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ