กรุงเทพฯ--4 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO ที่ BBB+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ และจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
ตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งภายในประเทศ: อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำทางการตลาดของ TASCO ในธุรกิจยางมะตอยในประเทศไทย โดย TASCO มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณร้อยละ 40 ในธุรกิจแอสฟัลต์ซีเมนต์ และมากกว่าร้อยละ 60 ในสินค้ายางมะตอยชนิดพิเศษ เนื่องจากที่บริษัทฯ มีเครือข่ายทางการตลาดที่แข็งแกร่ง มีการส่งมอบสินค้าที่ตรงเวลาและหน่วยงานสนับสนุนด้านเทคนิคที่ดี ความเชี่ยวชาญในสินค้ายางมะตอยและการบริการทางเทคนิคถือเป็นจุดแข็งที่สำคัญของบริษัทฯ โดยการที่ TASCO มีประวัติการดำเนินธุรกิจยางมะตอยที่ยาวนาน และการได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคจากบริษัท Colas SA หรือ Colas ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ โดยถือหุ้น TASCO อยู่ร้อยละ 32 เป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งทั้งในประเทศและในภูมิภาคนี้
การกระจายความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์: TASCO มีโรงงานผลิตจำนวน 18 โรงงานตั้งอยู่ใน 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งรวมถึงโรงกลั่นยางมะตอยที่ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซียด้วย ประมาณร้อยละ 70 ของยอดขายของ TASCO จะเป็นการขายที่เกิดขึ้นภายนอกประเทศไทย โดยมีการขายกระจายอยู่ใน 5 ประเทศหลัก ประกอบด้วย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย มาเลเซีย และเวียดนาม และยังมีการขายอยู่ในอีกกว่า 10 ประเทศ นอกจากนี้การขายระหว่างประเทศยังได้รับการสนับสนุนจากการที่บริษัทฯ มีกองเรือขนส่งยางมะตอย 6 ลำ ซึ่งทำให้มีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าขนส่งและความยืดหยุ่นในการจัดตารางการส่งมอบ
การสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่แข็งแกร่ง: TASCO ได้รับประโยชน์จาก Colas ในด้านเทคโนโลยีในการผลิตยางมะตอยชนิดพิเศษที่ทันสมัยและเครือข่ายทางการตลาดทั่วโลกของ Colas โดย Colas ได้จัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในการพัฒนาสินค้าและการฝึกอบรมด้านเทคนิคให้กับ TASCO ภายใต้ข้อตกลงการให้บริการทางเทคนิค นอกจากนี้ Colas ยังให้การสนันสนุนในด้านการให้คำปรึกษา การบริหารจัดการ การตลาดและการบริการแก่ TASCO อีกด้วย
ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน: TASCO ต้องเผชิญกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบซึ่งได้แก่น้ำมันดิบเป็นหลัก ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์ยางมะตอยมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันดิบในระยะสั้นไม่มากนัก นอกจากนี้ระยะเวลาที่ต้องใช้ในการขนส่งน้ำมันดิบจากอเมริกาใต้ซึ่งคือ 35 วัน ถึง 45 วัน โดยประมาณยังทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างราคาสินค้าผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นกับราคาน้ำมันดิบที่ซื้อมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ใช้เครื่องมือทางการเงินในการประกันความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสี่ยงดังกล่าว เช่น การเข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภท four-way collar เพื่อรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ในระดับหนึ่ง
วงจรการสร้างกระแสเงินสดที่ยาว: TASCO มีความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างสูง เนื่องจากมีรอบหมุนเวียนเงินสดคือระยะเวลานับแต่การจ่ายเงินสดเพื่อซื้อวัตถุดิบจนสามารถผลิตผลิตภัณฑ์และเรียกเก็บเงินได้ที่ค่อนข้างยาว รอบหมุนเวียนเงินสดสุทธิเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 50 วัน ในปี 2551 เป็นประมาณ 90 วันในช่วงปี 2552-2555 เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อน้ำมันดิบหลังจากที่บริษัทฯ เริ่มดำเนินธุรกิจโรงกลั่นยางมะตอย ด้วยเหตุนี้สัดส่วนหนี้สินระยะสั้นของบริษัทฯ จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีมาก อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีวงเงินกับธนาคาร (ประเภทที่ธนาคารสามารถยกเลิกได้โดยไม่มีเงื่อนไข) ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมากและมีดอกเบี้ยต่ำซึ่งสามารถใช้สนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯได้
อัตราส่วนหนี้สินที่สูง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ TASCO จะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2556-2557 บริษัทฯ มีแผนการลงทุนประมาณสองพันล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตในปี 2556-2557 โดยค่าใช้จ่ายหลักเพื่อการลงทุนจะเป็นการขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นและการซื้อเรือขนส่งสินค้า แม้ว่าฟิทช์คาดว่าความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของบริษัทฯ จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แผนการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทฯ จะทำให้การลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ เป็นไปอย่างจำกัด ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานจะลดลงเหลือประมาณ 6 เท่า ในปี 2557 (จากระดับ 7.1 เท่าในปี 2555) และลดลงต่ำกว่า 5 เท่าหลังจากปี 2558
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
-การลงทุนที่สูงขึ้นโดยมีแหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานที่สูงกว่า 6 เท่าอย่างต่อเนื่อง
-อัตราส่วนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินต่อดอกเบี้ยจ่ายและค่าเช่าต่ำกว่า 4.5 เท่า
ปัจจัยบวก:
-อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่า 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง