กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ไอแอมพีอาร์
ผลการวิจัยพบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ครัวเรือนประหยัดรายจ่ายสูงถึงกว่า 1.8 พันล้านบาท ต่อปี ทั้งค่านมผง อุปกรณ์ชงนม อาหารเสริม และค่ารักษาพยาบาลเด็กป่วย แม่ลูกอ่อนวอนขยายสิทธิลาคลอดในทางปฏิบัติให้ครบ 90 วันอย่างเป็นจริง
นพ.ภูษิต ประคองสาย ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลความเกี่ยวข้องของประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย เพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้กับผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่เกี่ยวข้อง คาดว่าผลการวิจัยจะดำเนินการแล้วเสร็จ ภายในต้นปี 2557 ทั้งนี้ ข้อค้นพบงานวิจัยดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดความชัดเจนในระดับมหภาคและจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางเชิงนโยบายในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งนี้ได้ยอมรับว่าในประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดทำการศึกษาทางด้านเศรษฐกิจเกี่ยวกับนมแม่มาก่อน
ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า ในเบื้องต้นได้มีการจัดเก็บข้อมูลในกลุ่มหญิงหลังคลอดจำนวน 830 รายใน 5 จังหวัด พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นเวลา 6 เดือน ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนได้ทุกรายการเมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่น้อยกว่า 6 เดือนแรก ยกเว้นค่าใช้จ่ายในรายการเครื่องปั๊มนม (ดูตาราง)
จากข้อมูลเปรียบเทียบดังกล่าว พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน ช่วยให้ครัวเรือนประหยัดค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยนได้ 6,616.24 บาท หรือเฉลี่ย 1,100 บาทต่อเดือน และเมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในภาพรวมของประเทศ ซึ่งตัวเลขล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2555 ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ 760,000 คนต่อปี และจากการสำรวจสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พบว่าร้อยละ 71 ของเด็กทารกเกิดใหม่ได้รับนมแม่อย่างเดียวเป็นระยะเวลา 3 เดือน และร้อยละ 38 ของเด็กทารกได้รับนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน เท่ากับว่า ครัวเรือนไทยจะสามารถประหยัดรายจ่ายได้มากกว่า 1.8 พันล้านบาท ต่อปี หากมีการสนับสนุนให้เด็กทุกคน (ยกเว้นมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์) ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึงระยะเวลา 6 เดือน ทั้งนี้หากปรับเป้าหมายของประเทศ ตามกรมอนามัย กระทรวงสาธาณะสุข ซึ่งวางเป้าหมายให้เด็กทารกร้อยละ 50 ได้รับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จนครบ 6 เดือน ครัวเรือนไทยจะสามารถประหยัดรายจ่ายได้ประมาณ 472 ล้านบาท ต่อปี
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าแม้ผู้หญิงหลังคลอดส่วนใหญ่จะเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และแม้จะมีพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2521 กำหนดสิทธิการลาคลอด 90 วัน แต่ในทางปฏิบัติจะใช้สิทธลาคลอดน้อยกว่าระยะเวลาดังกล่าว เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจและความจำเป็นด้านหน้าที่การทำงาน ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สังคมได้ผลักภาระให้แม่และครอบครัวเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่ประโยชน์จากการกินนมแม่ไม่ได้เกิดเฉพาะกับเด็กและพ่อแม่ แต่สังคมและประเทศได้ประโยชน์จากการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพรวมถึง ภาระทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย และรายจ่ายของครัวเรือนที่ลดลงจากการได้รับนมแม่อีกด้วย
ฉะนั้นทุกภาคส่วนไม่ว่าจะภาครัฐและเอกชน ควรร่วมสนับสนุนให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมมุมนมแม่ในสถานที่ทำงานสามารถเก็บน้ำนมกลับไปให้ลูกที่บ้านได้ รวมถึงการขยายระยะเวลาลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 180 วัน ซึ่งขณะนี้ คณะทำงานอยู่ระหว่างการศึกษาในรายละเอียด รวมทั้งข้อดีและข้อเสียของเรื่องดังกล่าว
“การกินนมแม่นอกจากช่วยสร้างภูมิคุ้มกันทำให้เด็กมีสุขภาพดี มีการเจ็บป่วยน้อยลงซึ่งจะส่งผลจนถึงวัยผู้ใหญ่แล้วยังทำให้เด็กเติบโตมีไอคิวและอีคิวสูง ประเทศชาติจะได้ประโยชน์จากการมีประชากรที่มีสติปัญญาดี และสุขภาพแข็งแรง” นพ.ภูษิต ให้ความเห็น
นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาข้อมูลวิชาการในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีงานวิจัยล่าสุดเมื่อปีพ.ศ. 2554 พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยให้สหรัฐฯ ประหยัดงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ต้องใช้เพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยของเด็กในแต่ละปีได้ถึง 3.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.1 แสนล้านบาท) ลดความสูญเสียจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของเด็กที่คิดเป็นมูลค่า 10.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (30.3 พันล้านบาท) ลดค่าใช่จ่ายเพื่อการซื้อผลิตภัณฑ์นมผงราว 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (1.17 แสนล้านบาท) รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านอาหารเสริมสำหรับหญิงหลังคลอด 1.6-2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.8-6.3 หมื่นล้านบาท) ที่สำคัญ ยังช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนในเด็กซึ่งจะส่งผลไปจนโต โดยในปัจจุบัน สหรัฐฯ ใช้งบประมาณเพื่อดูแลพลเมืองที่เจ็บป่วยจากโรคอ้วนสูงถึง 147 พันล้านเหรียญสหรัฐ (4.4 ล้านล้านบาท) ต่อปี
“ข้อมูลของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นว่า เด็กเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ลดลง เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ภาวะน้ำหนักเกิน ขณะที่ไอคิวเพิ่มสูงขึ้น และแม่เองก็มีสุขภาพที่ดีกว่าด้วย” นพ.ภูษิต กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ในประเทศออสเตรเลีย พบว่าเมื่อมีการรณรงค์ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น ทำให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายประมาณ 2.2 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย (6.6 หมื่นล้านบาท) และในประเทศอังกฤษ ทารกที่กินผลิตภัณฑ์นมผสมอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากกว่าทารกที่กินนมแม่ เนื่องจากทารกที่กินนมผสมต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 3 เดือน ถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้อมูลการลดลงของการเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้จากนมแม่ในประเทศไทย อยู่ในระหว่างการรวบรวมของทีมนักวิจัย ซึ่งจากข้อมูลของประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย แสดงให้เห็นว่า ประโยชน์จากการได้รับนมแม่อย่างเดียวเป็นระยะเวลา 6 เดือน มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว