กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ไอแอมพีอาร์
ในปัจจุบันมี 38 ประเทศทั่วโลก ที่ได้มีการบังคับใช้กฎหมายตาม “หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก” หรือ CODE ที่ “สมัชชาอนามัยโลก” มีมติให้การรับรองมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1981 เพื่อปกป้องส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนและกินนมแม่ควบคู่ไปกับอาหารเสริมตามวัยจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น
ในขณะที่อีกกว่า 44 ประเทศมีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ควบคุมการตลาดอาหารสำหรับเด็กทารกได้เพียงบางส่วน ซึ่งประเทศไทยเองก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดทำกฎหมายในเรื่องดังกล่าว ซึ่งความไม่ชัดเจนในเรื่องนี้ได้ส่งผลกระทบต่อ “สุขภาวะของแม่และเด็ก” ที่ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ดังกรณีที่เกิดขึ้นกับ “ประเทศอาร์เมเนีย” ที่ถึงแม้จะมีการนำหลักเกณฑ์ด้านการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กมาบังคับใช้ แต่กลับขาดมาตรการรวมไปถึงบทลงโทษต่อการกระทำที่ผิดที่ชัดเจน
ผลที่เกิดขึ้นคือสถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ย้อนหลังไป 4 ปีของอาร์เมเนียมีอัตราการขยายตัวที่หยุดชะงัก สาเหตุหลักมาจากการดำเนินกลยุทธ์ด้านการตลาดของผู้ประกอบการนมผงผ่านสื่อโฆษณาต่างๆ ในที่สาธารณะ ในบรรจุภัณฑ์นม รวมถึงการแจกตัวอย่างนมผงผ่านบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งล้วนแต่ขัดต่อหลักของ CODE แต่เมื่อไม่มีบทลงโทษ ทำให้ปัจจุบันสุขภาวะของเด็กอาร์เมเนียลดต่ำ เจ็บป่วยง่าย การเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์ และมีน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สถานการณ์และบทเรียนของเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอาร์เมเนีย สะท้อนให้เห็นถึงอุปสรรคกว่าที่เด็กๆ จะได้กินนมแม่ และยังสะท้อนให้เห็นปัญหาในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่จะต้องเผชิญ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย เพราะกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันขาดมาตรการบังคับและบทลงโทษ โดยในปี พ.ศ. 2553 กรมอนามัย ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องจึงได้ยกร่างการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก เสนอที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 โดยที่ประชุมมีมติรับรองและให้ผลักดันเป็นข้อบังคับที่มีผลตามกฎหมาย
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับใหม่ว่า มีความคล้ายคลึงกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้ในปัจจุบัน แต่จะเพิ่มสาระสำคัญในส่วนของบทลงโทษ โดยมีเป้าหมายคือต้องการตอกย้ำความเข้าใจและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม รวมทั้งเพิ่มภาระในแง่ของขั้นตอนทางกฎหมายหากธุรกิจอาหารสำหรับทารกมีการกระทำที่เป็นการฝ่าฝืนข้อบัญญัติในกฎหมาย
“ที่ผ่านมาเมื่อมีปัญหาเราทำได้แค่แจ้งเตือนผู้ประกอบการในลักษณะขอความร่วมมือ หากปรับฐานะเป็นพระราชบัญญัติน่าจะทำให้ผู้ประกอบการที่จะทำสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายคงต้องประเมินผลดีผลเสียมากขึ้น รวมทั้งบุคลากรของเราเองก็จะได้มีแนวทางในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย”
นางพรธิดา พัดทอง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสาร องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ยอมรับว่าการผลักดัน CODE ให้เป็นกฎหมายในแต่ละประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคสำคัญได้แก่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประโยชน์ที่แท้จริงของนมแม่ว่าไม่มีสิ่งใดมาทดแทนได้
“ในส่วนของประเทศไทย ผ่านมา 3 ปีแล้วแต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่สามารถผ่านเข้าสู่ขั้นตอนของรัฐสภา และไม่อาจแน่ใจได้ว่าในส่วนของเนื้อหาจะไม่ถูกแก้ไขในระหว่างการพิจารณา ดังนั้นหากประชาชนและสังคมมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จะได้ช่วยกันติดตามและผลักดันกฎหมาย รวมทั้งปฏิบัติตัวได้เหมาะสมตามแนวทางที่สมัชชาอนามัยโลกกำหนดไว้” เจ้าหน้าที่องค์การยูนิเซฟกล่าวในตอนท้าย.