กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--C.A. Info Media
ศ.ศ.ป.จัดงานใหญ่ฉลองวันคล้ายวันสถาปนา 10 ปี ด้วยการสืบสานงานหัตถศิลป์ของชาติ เทิดพระเกียรติใต้ร่มพระบารมี รวมสุดยอดผลงานชั้นบรมครู มนต์เสน่ห์ แห่งเอกลักษณ์ไทยที่แฝงด้วยเรื่องราว และประวัติศาสตร์ บนความวิจิตร ปราณีต และความชำนาญการ สืบทอดกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมเปิดบ้านชูห้องสุพรรณ-พัสตร์ ให้เป็นพื้นที่รวบรวมองค์ความรู้งานผ้าโบราณและเครื่องทองของไทย 1พฤศจิกายน 2556 หนึ่งวันสะท้อน 10 ปี กับงานหาชมยาก
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. คือ หน่วยงานหนึ่งที่มีภารกิจหลักในการอนุรักษ์และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ พ.ศ.2546 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า การจัดงาน “ทศวรรษหัตถกรรมไทย ใต้ร่มพระบารมี” เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนา 10 ปี ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ได้รวบรวมผลงาน และกิจกรรมที่เด่น ตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษ ซึ่งการรันตีได้ว่า “หาชมยาก” โดยเฉพาะการรวบรวมผลงานระดับชั้นบรมครูแห่งงานศิลปหัตถกรรมไทยมาให้ได้ชื่นชมกับความวิจิตร ปราณีต และชั้นเชิงแห่งงานศิลป์กับงานชั้นครู
- งานหัตถกรรมปูนปั้น จังหวัดเพชรบุรี โดย ครูทองร่วง เอมโอษฐ (ศิลปินเห่งชาติ)
- งานหัตถกรรมแทงหยวก จังหวัดเพชรบุรี โดย ครูประสม สุสุทธิ
- งานหนังตะลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ครูสุชาติ ทรัพย์สิน
- งานหัวโขน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย ครูโสภณ บัวชาติ
- งานทองโบราณ จังหวัดสุโขทัย โดย ครูสมสมัย เขาเห็น
- งานเครื่องถม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย ครูนิคม นกอักษร
- งานตะลุ่ม เตียบ พานแว่นฟ้า จังหวัดนนทบุรี โดย ครูเสน่ห์ แจ่มจิรารักษ์
- งานผ้าตีนจกบ้านหาดเสี้ยว จังหวัดสุโขทัย โดย ครูสุนทรี วิชิตนาค และอื่นๆ 2/ ศ.ศ.ป....
ศ.ศ.ป. ได้มีการรวบรวมทะเบียนครูช่างหัตถศิลป์ไทย เพื่อมุ่งให้เป็นองค์ความรู้แก่ชนรุ่นหลัง ไม่ให้ผลงานอันวิจิตรปราณีตของไทยต้องหายสาบสูญไป พร้อมกันนี้ ยังได้ต่อยอด และสนับสนุนให้เกิดการสืบสาน โดยผ่านโครงการเฟ้นหา และส่งเสริมทายาทครูช่างที่สืบทอดผลงานจากบรรพบุรุษให้คงอยู่อย่างต่อเนื่องในทุกปี
นอกจากนี้ ภายในงาน ศ.ศ.ป. ได้ถือโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา เปิดบ้านต้อนรับประชาชนผู้สนใจอย่างเป็นทางการ เนื่องจาก ได้มีการจัดตกแต่งพื้นที่ห้องสุพรรณ-พัตร์ จัดแสดงงานผ้าโบราณและเครื่องทองไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และอีกห้องจัดแสดงงานผสมผสานผลงานศิลปหัตถกรรมที่ได้รับการออกแบบใหม่ จนกลายเป็นผลงาน “นวัตศิลป์” รวบรวมไว้โดยทั้งหมดนี้ จะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ทางด้านงานศิลปหัตถกรรมที่มีความครบถ้วนแห่งหนึ่ง
การดำเนินงานก้าวเข้าสู่ 10 ปี ศ.ศ.ป. ตระหนักถึงการดำเนินงานสำคัญที่นอกเหนือจากการสืบสานอนุรักษ์ให้คงอยู่ ยังมุ่งตอบโจทย์สำคัญ คือ “การจะทำอย่างไรให้งานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นที่ยอมรับ และเข้าถึงกลุ่มคนที่มีความชอบแตกต่าง กันได้” ดังนั้น อีกหนึ่งภารกิจหลักที่ดำเนินงานควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่อง คือ การต่อยอดและพัฒนาให้ผลงานศิลปหัตถกรรมไทย มีความร่วมสมัยเพิ่มมากขึ้น และมีความน่าสนใจด้วยดีไซน์ และรูปแบบที่สร้างสรรค์ ตอบโจทย์กลุ่มคนตามความแตกต่างของตลาดได้อย่างตรงใจ และเข้าถึงจนส่งผลให้ผลงานศิลปหัตถกรรมไทย สามารถเข้าสู่ตลาดการค้า สร้างรายได้ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มช่างฝีมือ ได้มีอาชีพ เลี้ยงครอบครัว และมีกำลังใจในการสืบสานงานศิลป์อันเป็นมรดกตกทอดอันล้ำค่า