กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--สำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ
กระทรวงวิทย์ฯ เปิดเวทีแสดงความคิดเห็น เพื่อต่อยอดพัฒนาระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ
ประเทศไทยได้มีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมทั้งของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เพื่อการติดตามและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติมากว่า 30 ปี ซึ่งการใช้งานระบบดังกล่าว สามารถลดเวลา และค่าใช้จ่ายของประเทศ อีกทั้งยังได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น การวางแผนการเพาะปลูก การติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ไฟป่า ภัยแล้ง การบุกรุกพื้นที่ป่า ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้งานมีความต้องการข้อมูลที่หลากหลาย ทันต่อเหตุการณ์ และง่ายต่อการเข้าถึง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมระยะที่ 2 ขึ้น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้จัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศขึ้น ในวันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ณ ห้องแซฟไฟร์ 1-2 โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ โดยมี ดร.วีรพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวรายงาน และ ให้เกียรติเป็นประธานในงาน
การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาที่มาจากทุกภาคส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมของประเทศ เพื่อนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาถ่ายทอดและพัฒนาระบบ และตอบสนองต่อภารกิจที่สำคัญของประเทศไทย 5 ด้าน คือ ด้านการจัดการน้ำและภัยพิบัติ ด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการวางแผนพัฒนาและจัดการพื้นที่เมือง และระบบโครงสร้างพื้นฐานความมั่นคงและการทหาร โดยระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียมนี้ จะต้องเข้าถึงข้อมูลต้นน้ำที่หลากหลายเช่น ข้อมูลชั้นความสูงภูมิประเทศ, แหล่งน้ำและระดับน้ำ, ข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยา, แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน, ขอบเขตพื้นที่เมือง, พื้นที่ป่า, ข้อมูลโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลภาคสนาม ฯลฯ รวมถึงการมีระบบบูรณาการข้อมูลและผลิตภัณฑ์ประยุกต์ต่างๆและจะต้องมีระบบบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างครบถ้วนต่อไป