กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ธนาคารกรุงเทพ
เมื่อเร็วๆ นี้ ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ยืนยันที่จะเดินหน้าสานต่อความร่วมมือทางธุรกิจอันแข็งแกร่งและยาวนานกว่า 18 ปี ด้วยการประกาศใช้บริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์ ทั้งโปรแกรมเครือข่ายสังคมสำหรับองค์กร อย่าง แยมเมอร์ (Yammer) และโปรแกรมออฟฟิศ 365 (Office 365) ในโครงการสำคัญต่างๆ ของธนาคาร รวมทั้งการใช้อุปกรณ์วินโดวส์ 8 เพื่อให้บริการในสาขาต่างๆ ของธนาคารอีกด้วย ในฐานะลูกค้าที่ยาวนานมาตั้งแต่ปี 2538 ธนาคารกรุงเทพได้ให้ความไว้วางใจเลือกใช้หลากหลายเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ในการดำเนินการระบบที่สำคัญๆ ของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น วินโดวส์ (Windows) ออฟฟิศ (Office) เอ็กซ์เชนจ์ (Exchange) แชร์พ้อยท์ (SharePoint) และ เอสคิวแอล (SQL) โดยนายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้รับผิดชอบสายลูกค้าธุรกิจรายกลาง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์เป็นพันธมิตรที่สนับสนุนเราในหลายๆ ด้าน รวมทั้งการฝึกอบรมและงานด้านการให้การสนับสนุน”
“เราได้เริ่มติดตั้งระบบเพื่อนำผลิตภัณฑ์และบริการคลาวด์ของไมโครซอฟท์มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ไมโครซอฟท์ ลิงค์ (Microsoft Lync) ซึ่งเป็นระบบประชุมทางไกลผ่านวิดีโอที่อยู่ในโปรแกรมออฟฟิศ 365 ซึ่งช่วยให้การติดต่อสื่อสารกับสาขาและพนักงานของเราในต่างประเทศเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกมาก” นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพยังได้เริ่มใช้แยมเมอร์ (Yammer) ซึ่งเป็นบริการเครือข่ายสังคมสำหรับองค์กร ที่ช่วยให้พนักงานสามารถสื่อสารและทำงานร่วมกันได้จากสถานที่ต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่ควบควมคุมได้และมีความปลอดภัยสูงสุด ซึ่งปัจจุบันกว่าร้อยละ 85 ของบริษัทชั้นนำ 500 ราย ที่ได้รับการจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูนต่างเลือกใช้แยมเมอร์เป็นเครื่องมือสื่อสารภายในองค์กร
เลือกใช้งานอุปกรณ์และบริการต่างๆ ของไมโครซอฟท์ในสาขาของธนาคาร
มร. ฌอง ฟิลิป เคอร์ทัวส์ ประธานไมโครซอฟท์ อินเตอร์เนชั่นนัล ได้กล่าวถึงการปรับตัวครั้งใหญ่ของไมโครซอฟท์จากการเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มาเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์และผู้ให้บริการ ระหว่างการมาเยือนประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ คือ ไมโครซอฟท์พร้อมที่จะมอบอุปกรณ์ที่ทำงานร่วมกับบริการต่างๆ โดยเฉพาะบริการบนคลาวด์ ซึ่งมุ่งอำนวยความสะดวกและปลอดภัยสูงสุดให้กับผู้ใช้บริการ ทั้งลูกค้าส่วนบุคคล และภาคธุรกิจ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถทำสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับพวกเขาได้ เราเห็นแรงกระตุ้นในภาคธุรกิจในการที่บริษัทต่างๆ หันมาใช้คลาวด์ และประเทศไทยเองก็มีความพร้อมอย่างมาก เรามีความยินดีที่องค์กรชั้นนำของไทยอย่างธนาคารกรุงเทพมองเห็นศักยภาพของคลาวด์”
จากการคาดการณ์ในปีนี้ พบว่าตลาดคลาวด์ในประเทศไทยจะเติบโตขึ้นถึงร้อยละ 22 จากมูลค่า 1.9 พันล้านบาท เป็น 2.3 พันล้านบาท[1] และภายในปี 2559 โครงการใหญ่ๆ ของบริษัทชั้นนำทั่วโลกจะหันมาใช้คลาวด์เป็นอันดับแรก
ธนาคารกรุงเทพ เป็นพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงของไมโครซอฟท์ในครั้งนี้ โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารฯ ได้ประกาศใช้งานแท็บเลตวินโดวส์ 8 และเซอร์เฟซ ในสาขาต่างๆ ของธนาคาร นายวีระศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อุปกรณ์วินโดวส์ 8 อย่าง แท็บเลต ใช้งานง่าย สะดวก และมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม เรากำลังเตรียมติดตั้งอุปกรณ์เหล่านี้ในสาขาต่างๆ ของเรา เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้สะดวกและง่ายดาย ลูกค้าสามารถถือและสัมผัสอุปกรณ์เหล่านี้ และเมื่อรวมเข้ากับการให้บริการบนแอพพลิเคชั่นของธนาคารฯ ที่อยู่ในวินโดวส์ และวินโดวส์โฟน สิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับลูกค้าของเรา”
มุ่งสู่ธนาคารบนคลาวด์
ธนาคารกรุงเทพ ได้เล็งเห็นโอกาสในการย้ายระบบการทำธุรกรรมภายในของธนาคารไปสู่ระบคลาวด์แบบภายในองค์กร (Private Cloud) ของไมโครซอฟท์ “เช่น การใช้งานคลาวด์สำหรับแผนกการธนาคารระหว่างประเทศ”
ในอนาคตอันใกล้นี้ ธนาคารกรุงเทพยังได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการให้บริการลูกค้าบางรายผ่านระบบ คลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) นายวีระศักดิ์ อธิบายว่า “เรากำลังมองไปที่กลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งเป็นลูกค้าหลักของเราอีกกลุ่มหนึ่ง การให้บริการบางอย่างแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ผ่านคลาวด์สาธารณะ จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่พวกเขาได้”
(จากซ้ายไปขวา) มร.ฮาเรซ คูบจันดานิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด มร. ฌอง ฟิลิป เคอร์ทัวส์ ประธานไมโครซอฟท์ อินเตอร์เนชั่นนัล และนายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้รับผิดชอบสายลูกค้าธุรกิจรายกลาง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ลูกค้าธุรกิจยาวนานกว่า 18 ปี ของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย