กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต จัดงานสัมมนา “Economic Outlook: ตามติดเศรษฐกิจไทย ปี 2557” เมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา ณ ห้องกัญญลักษณ์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมโฟร์วิงส์ เชิญกูรูแนะผู้ประกอบการจับตาทิศทางเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้านเพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัว พร้อมทั้งวางแผนการดำเนินกิจการ ตลอดจนการรับมือกับปัจจัยเสี่ยง อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมไทยได้
เศรษฐกิจไทยในปี 2556 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังคงมีทิศทางของการฟื้นตัวที่ยังคงเปราะบาง สภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ยังคงภาพทรงตัวแม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวจะส่งสัญญาณในทิศทางที่ดีขึ้นก็ตาม ประกอบกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผ่านผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการส่งออก ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาอุปสงค์ภายในประเทศไทยเอง ยังแสดงทิศทางของการชะลอตัวลงจากภาคการบริโภคและการลงทุน หลังจากที่เร่งขึ้นไปมากในช่วงเวลาก่อนหน้า ประกอบกับปัจจัยบั่นทอนต่างๆ เช่น ต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น ความผันผวนของค่าเงินบาท ภาวะการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยไม่เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังไว้
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2556 ยังคงต้องเผชิญกับอุปสงค์จากต่างประเทศที่หดตัวลงต่อเนื่องจากในปี 2555 เนื่องมาจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยแกนหลักของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาและยูโรโซนยังไม่สะท้อนภาพของการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งนัก ประกอบกับภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน อุปสงค์ภายในประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมทั้งไทย กำลังชะลอตัวลง โดยแรงส่งของเศรษฐกิจไทยได้อ่อนแรงลงจากการบริโภคภายในประเทศ จากผลของการสิ้นสุดลงของมาตรการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ (โครงการคืนภาษีรถยนต์คันแรก) รายได้เกษตรกรที่ลดลงตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลง โดยเฉพาะราคายางพารา รวมทั้ง ความวิตกกังวลในภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสถานการณ์หนี้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ส่วนแรงส่งด้านการลงทุนก็เริ่มมีการชะลอตัวลงจากการเร่งการลงทุนไปในช่วงระยะเวลาก่อนหน้าเพื่อชดเชยผลกระทบของภาวะน้ำท่วม ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นรอบด้าน
ไม่ว่าจะเป็น ต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงาน ค่าเงินบาทที่มีความผันผวนจากการไหลเข้า — ออก ของเงินทุนต่างชาติ การทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงาน หรือแม้แต่ภาวะการขาดแคลนแรงงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการส่งออกสินค้าของไทยจะได้รับผลกระทบของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับการขาดแคลนวัตถุดิบในบางอุตสาหกรรมก็ตาม แต่ภาคบริการของไทยยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับการใช้จ่ายและลงทุนภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
“หากมองผิวเผินแล้วเศรษฐกิจไทยในปี 2557 มีแนวโน้มว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่จะมีการฟื้นตัวในทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้น ประกอบกับการที่จะมีเม็ดเงินจากโครงการลงทุนของภาครัฐตามแผนการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้ในปี 2557 นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ความผันผวนของค่าเงินบาท ราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน ราคาสินค้าเกษตร สถานการณ์ทางการเมือง รวมทั้งความไม่แน่นอนของภาวะเศษฐกิจโลกนั้น ก็ยังคงไม่อาจละเลยได้ ซึ่งแรงกดดันเหล่านี้ย่อมส่งผ่านมายังเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งไปกว่านั้น ความท้าทายในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ในปี 2558 ที่จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี การคมนาคมขนส่งและโลจีสติกสที่จะมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ย่อมมีนัยต่อการเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยซึ่งมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของการเป็นเส้นทางการคมนาคมสำคัญของภูมิภาคอาเซียน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องหันกลับมาพิจารณาความพร้อม และขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เพื่อจะได้ปรับปรุงและพัฒนา สร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยแนวทางหนึ่งสำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจไทยและสร้างสรรค์นโยบายที่เอื้อต่อการไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างแข็งแกร่ง” นายศุภรัตน์ กล่าว
นายศุภรัตน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 จะมีทิศทางอย่างไร ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมควรจะมีแนวทางในการรับมืออย่างไรกับสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในปี 2558 นี้อย่างไร หลากหลายคำถามที่แฝงด้วยความท้าทายดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกคนควรศึกษาและเข้าใจในวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้ง โดยสิ่งสำคัญที่สุดที่ไม่อาจละเลยได้ คือการเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อรองรับกับโอกาสไปพร้อมๆ กับการเตรียมรองรับสภาวะการแข่งขันที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากกระแสของการเปิดเสรี
“งานสัมมนา Economic Outlook: ตามติดเศรษฐกิจไทย ปี 2557 โดยความร่วมมือระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเวทีที่จะสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆให้กับภาคธุรกิจอุตสาหกรรม โดยได้นำเอาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ ของกูรูจากภาครัฐ และเอกชน ผู้คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรม พลังงาน เศรษฐกิจ และสินค้าเกษตร มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน รวมถึงยังได้รับเกียรติจาก ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อนาคตประเทศไทย ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” อีกด้วย” นายศุภรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2345-1013, 1017