กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--บีโอไอ
ไทย — ญี่ปุ่นเดินหน้ายกระดับสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ และบรรยากาศการลงทุนในไทย บีโอไอนําทีมหน่วยงานภาครัฐของไทยหารือผู้แทนจากญี่ปุ่นซึ่งนำโดยสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร และหอการค้าญี่ปุ่นประจำประเทศไทย หรือ เจซีซี และเพื่อร่วมหาแนวทางในการอํานวยความสะดวกแก่นักลงทุน และลดอุปสรรคตามกรอบข้อตกลงเจเทปป้า
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาและแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาประเด็นที่เกี่ยวข้องและเป็นอุปสรรคต่อการทําธุรกิจของสองประเทศภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุน (Agreement between the Kingdom of Thailand and Japan for an Economic Partnership: JTEPA) หรือเจเทปป้า โดยมีผู้แทนภาครัฐและเอกชนของไทยและญี่ปุนเข้าร่วมประชุมปีละ 1 ครั้ง ว่า การหารือในครั้งที่ 5 นี้ บีโอไอได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยว ข้องได้ร่วมชี้แจงถึงการปรับปรุงกระบวนการทํางานต่างๆ เพื่ออํานวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมทั้งความคืบหน้าในการแก้ปัญหา และลดอุปสรรคการดําเนินการตามข้อตกลงของ 2 ประเทศในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่น มีนายคิมิโนะริ อิวามะ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เป็นประธาน พร้อมด้วย นายเซ็ทซึโอะ อิอูจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JTRO) และนายซูซุมุ อูเนโนะ ประธานคณะกรรมการบริหารหอการค้าญี่ปุ่น(JCC) ขณะที่ฝ่ายไทย ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ การท่าเรือแหลมฉบัง การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ กรมการกงสุลสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน
“ ประเด็นที่ฝ่ายญี่ปุ่นให้ความสำคัญก็คือ การขยายเส้นทางการจราจรทางบก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นเสนอว่า การจราจรรอบท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือหลักอื่นๆ มีความหนาแน่น จึงขอให้ภาครัฐช่วยขยายเส้นทางการจราจรทางบกให้มากขึ้น และเร่งปรับปรุงระบบขนส่งทางบกที่ใช้เดินทางมายังท่าเรือแหลมฉบัง และจากท่าเรือแหลมฉบังไปสู่พื้นที่อื่นๆ เพื่อให้การขนส่งสินค้าสามารถดำเนินการได้ตรงเวลา รวมทั้งการพัฒนาระบบการขนส่งทางบกไปยังประเทศเมียนมาร์ ซึ่งจะเป็นตลาดสำคัญในอนาคตด้วย ” รองเลขาธิการบีโอไอกล่าว
สำหรับประเด็นที่ได้มีการหารือในครั้งนี้ ได้แก่ เรื่องการพัฒนาให้เกิดความโปร่งใสและการดำเนินการด้านศุลกากร อาทิ การปรับปรุงข้อมูลในเว็บไซต์ภาษาอังกฤษให้มีความทันสมัยและตรงกับข้อมูลภาษาไทย และการให้บริการคลินิกศุลกากร เป็นต้น
ส่วนการหารือในประเด็นด้านแรงงานนั้น ได้หารือถึงเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือการอุดหนุนสำหรับนายจ้าง มีที่มีการฝึกอบรม หรือพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการลดภาษี หรือการให้การอุดหนุนโดยภาครัฐ ตลอดจนสนับสนุนให้มีการปรับปรุงการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพแรงงาน
นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงเรื่องการออกใบอนุญาตทำงาน การตั้งศูนย์กลางการให้คำปรึกษาในเรื่องของกิจการสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ( ROH ) ศูนย์กลางการจัดหาสินค้าเพื่อการผลิตระหว่างประเทศ (IPC) และ ศูนย์บริหารเงิน (TC) รวมถึงการขอให้ฝ่ายไทยคงมาตรการเพื่อป้องกันน้ำท่วมไว้ ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการทำประกันภัยพิบัติภายใต้กรมธรรมประกันภัยพิบัติ ทั้งนี้ คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นสนับสนุนเรื่องการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและประเทศคู่เจรจาอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป อินเดีย เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศไทย
สำหรับการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย พบว่า ในช่วงระหว่างปี 2551 — 2555 (5 ปี) มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่น ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2,386 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 852,646 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องจักร โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ โครงการลงทุนขนาดใหญ่จากญี่ปุ่น ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการผลิตยางรถยนต์ของบริษัทบริดจสโตน เงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท โครงการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะของบริษัทฟูรุคาว่า เงินลงทุน 19,000 ล้านบาท โครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลและชิ้นส่วนของบริษัทสยามโตโยต้า เงินลงทุน 17,000 ล้านบาท โครงการผลิตรถกระบะของบริษัทนิสสัน เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท โครงการผลิตรถยนต์ของบริษัทโตโยต้า เงินลงทุน 14,000 ล้านบาท โครงการผลิตกล้องดิจิตอลและชิ้นส่วนของบริษัทนิคอน เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท โครงการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทฟูจิคุระ เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท และโครงการผลิตชุดเกียร์รถยนต์ของบริษัทมาสด้า เงินลงทุน 11,000 ล้านบาท เป็นต้น ส่วนในช่วง 9 เดือนปี 2556 มีโครงการจากญี่ปุ่นยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 448 โครงการ เงินลงทุนรวม 211,350 ล้านบาท