กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต
มารุเบนิ คอร์ปอเรชั่น (โตเกียว: 8002) และโตชิบา คอร์ปอเรชั่น (โตเกียว: 6502) : ประกาศในวันนี้ว่าทั้งสองบริษัทได้ร่วมลงนามในสัญญาเพื่อจัดหาระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบไฟฟ้าและระบบซ่อมบำรุงให้แก่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งเป็นโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายใหม่ในกรุงเทพ ประเทศไทย โดยสัญญาฉบับนี้จะครอบคลุมถึงการจัดหาอุปกรณ์สำหรับระบบราง การจัดหาตู้รถไฟฟ้าและบริการซ่อมบำรุงเป็นระยะเวลา 10 ปี
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายใหม่ระยะทาง 23 กิโลเมตร มีเส้นทางการเดินรถวิ่งจากสถานีบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ ผ่านใจกลางเมือง มุ่งสู่ สถานีบางซื่อ ทางด้านใต้ของกรุงเทพฯ ปัจจุบัน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะเป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเส้นที่สองของกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2559 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง พัฒนาโดย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยใช้รูปแบบการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) และได้รับเงินกู้เป็นสกุลเงินเยนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ขณะนี้ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CHK) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานชั้นนำของไทย กำลังดำเนินการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้อยู่และจะเปิดให้บริการ โดยบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL)
ภายใต้ข้อตกลงในสัญญากับ บริษัท ช. การช่าง นั้น มารุเบนิและโตชิบา จะจัดหาตู้รถไฟฟ้า อุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบควบคุมและระบบติดต่อสื่อสาร ให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยตู้รถไฟฟ้าทั้งหมด 63 ตู้ จะผลิตโดย บริษัท เจแปน ทรานส์ปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (J-TREC) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มบริษัท อีสต์ เจแปน เรลเวย์ จำกัด (JR East)
สำหรับสัญญาที่ลงนามกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพฯ (BMCL) ซึ่งมีระยะเวลา 10 ปี นั้น มารุเบนิและ โตชิบา จะให้บริการด้านการซ่อมบำรุงตู้รถไฟฟ้าและระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยทั้งสองบริษัท จะจับมือกับกลุ่มบริษัท อีสต์ เจแปน เรลเวย์ จำกัด (JR East) จัดตั้งบริษัทที่ให้บริการด้านการซ่อมบำรุงในกรุงเทพฯ เพื่อให้บริการสนับสนุนแก่ BMCL
รถไฟฟ้าสายสีม่วง จะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในโครงข่ายขนส่งมวลชนระบบรางของกรุงเทพมหานครที่ใช้ตู้รถของญี่ปุ่นและยังเป็นโครงการเส้นทางรถไฟโครงการแรกในต่างประเทศที่ทีมงานจากประเทศญี่ปุ่นจะให้บริการการซ่อมบำรุงในระยะยาว ที่ผ่านมา มารุเบนิ ประสบความสำเร็จในการให้บริการระบบรางแบบเทิร์นคีย์เต็มรูปแบบแก่ประเทศเวเนซูเอลา ฟิลิปปินส์และดูไบ ในขณะที่ โตชิบา มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบบริหารจัดการสำหรับรถไฟความเร็วสูงในประเทศไต้หวัน และ กลุ่ม JR East มีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีและบริการระบบรางที่น่าเชื่อถือ และทั้งสามบริษัทฯ จะร่วมกันจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้แก่โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งโครงการนี้ จะช่วยให้ปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯคลี่คลายลงได้บ้าง
มารุเบนิ กำลังเตรียมขยายธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานไปยังต่างประเทศ ซึ่งสามารถอ้างอิงจากความสำเร็จจากโครงการระบบรางแบบเทิร์นคีย์ในตลาดต่างประเทศหลายแห่ง
โตชิบา มุ่งสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจรถไฟ ในภูมิภาคอาเซียนและเร่งพัฒนาสู่ระดับโลกต่อไป