กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษา ร่วมแถลงผลสำรวจกลุ่มวัยรุ่นไทยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อายุระหว่าง 15-25 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา จำนวน 1,072 คน ในระหว่างวันที่ 1-6 พฤศจิกายน 2556 ต่อการซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์พบว่าวัยรุ่นคิดถึงความสะดวก ประหยัด สินค้ามีคุณภาพ และเลือกซื้อได้ง่ายเป็นหลัก
ศ.ศรีศักดิ์ กล่าวจากผลการสำรวจสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 59.89 เคยเลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์ ขณะที่ร้อยละ 40.11 ไม่เคยเลือกซื้อ สำหรับประเภทของสินค้าที่กลุ่มตัวอย่างนิยมซื้อผ่านทางสื่อออนไลน์สูงสุด 5 อันดับได้แก่ เสื้อผ้า คิดเป็นร้อยละ 81.31 กระเป๋า-รองเท้า-ถุงเท้า คิดเป็นร้อยละ 79.91 สินค้าเพื่อสุขภาพ-ความงาม คิดเป็นร้อยละ 79.13 สินค้าด้านความบันเทิง (ดนตรี-หนัง-ละคร) คิดเป็นร้อยละ 77.73 และหนังสือ คิดเป็นร้อยละ 76.01 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือคิดเป็นร้อยละ 54.04 ใช้จ่ายในการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์โดยเฉลี่ยในแต่ละครั้งคือประมาณ 500 — 2,000 บาท ส่วนประเภทของสื่อออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างนิยมใช้เลือกซื้อสินค้าบ่อยที่สุด 3 อันดับได้แก่ เว็บไซด์ของผู้ขายสินค้าโดยตรง คิดเป็นร้อยละ 28.5 เว็บไซด์สังคมออนไลน์ คิดเป็นร้อยละ 21.81 และเว็บไซด์ขายสินค้าทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 19.78 นอกจากนี้ปัญหาที่กลุ่มตัวอย่างพบบ่อยที่สุดจากการเลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์ 3 อันดับ ได้แก่ ได้รับสินค้าล่าช้ากว่าที่กำหนด คิดเป็นร้อยละ 25.23 สินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ คิดเป็นร้อยละ 20.23 และสินค้ามีความชำรุดเสียหาย คิดเป็นร้อยละ 18.38 ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 6.39 ที่ระบุว่าไม่เคยพบปัญหาใดๆ เลย สำหรับสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างเลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์สูงสุด 5 อันดับคือ สะดวกรวดเร็ว-เลือกซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 81.62 ประหยัดเวลา-ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คิดเป็นร้อยละ 80.37 ราคาของสินค้าถูกกว่าห้างสรรพสินค้า/ร้านทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 75.39 สินค้ามีคุณภาพ คิดเป็นร้อยละ 71.81 และผู้จำหน่ายมีความน่าเชื่อถือ คิดเป็นร้อยละ 70.09 ส่วนสาเหตุสำคัญที่กลุ่มตัวอย่างไม่เลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์ 5 อันดับสูงสุด ได้แก่ ขั้นตอนการเลือกซื้อมีความยุ่งยากซับซ้อน คิดเป็นร้อยละ 80.93 การให้ข้อมูลเพื่อชำระเงินไม่มีความปลอดภัย คิดเป็นร้อยละ 79.53 กลัวไม่ได้รับสินค้า คิดเป็นร้อยละ 76.05 นิยมไปซื้อสินค้าที่ร้านมากกว่า คิดเป็นร้อยละ 74.65 และไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้า คิดเป็นร้อยละ 68.37 สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุดที่มีผลกับการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างว่าจะเลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์หรือไม 5 ปัจจัยได้แก่ ประเภทของสินค้า คิดเป็นร้อยละ 82.46 ราคาของสินค้า คิดเป็นร้อยละ 80.41 ความปลอดภัยของการให้ข้อมูลในการชำระเงิน คิดเป็นร้อยละ 77.99 ขั้นตอนการซื้อสินค้า คิดเป็นร้อยละ 74.44 และคุณภาพของสินค้า คิดเป็นร้อยละ 72.11 ส่วนกลุ่มบุคคลที่มีผลกับการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างว่าจะเลือกซื้อสินค้าผ่านทางสื่อออนไลน์มากที่สุด 3 อันดับ คือ เพื่อนฝูง คิดเป็นร้อยละ 82.74 พ่อแม่ผู้ปกครอง/ญาติพี่น้อง คิดเป็นร้อยละ 80.69 และผู้ที่เคยซื้อสินค้ามาก่อน คิดเป็นร้อยละ 75.37