กรุงเทพ--23 ก.ค.--กรมวิทยาศาสตร์
เห็ดถือเป็นอาหารที่รู้จักกันทั่วไป บางชนิดใช้เป็นส่วนประกอบของยาแผนโบราณที่มีสรรพคุณรักษาโรคต่าง ๆ ได้ แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรงถึงชีวิต ดังนั้นถึงไม่ควรบริโภคเห็ดที่ไม่รู้จักหรือเห็ดป่าที่ไม่ทราบชนิดหรือแหล่งที่มาแน่นอน
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ทุก ๆ ปีในช่วงฤดูฝนจะมีข่าวว่ามีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดอยู่เสมอ เนื่องจากอากาศในช่วงดังกล่าวเหมาะแก่การเจริญเติบโตของเห็ดหลายชนิด บางชนิดรับประทานได้บางชนิดก็มีพิษร้ายแรง เมื่อมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์เก็บมารับประทานจึงทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกาย สำหรับเห็ดพิษที่พบมากในประเทศไทย มีหลายชนิดด้วยกัน เช่น เห็ดในสกุล Amanita จะมีสารพิษจำพวก Amanitins หรือ Amanita toxins ซึ่งสามารถทำลายเซลส์เกือบทุกส่วนของร่างกาย อาการจะเริ่มเมื่อได้รับพิษประมาณ 6-12 ชั่วโมง หรือบางรายอาจถึง 24 ชั่วโมง เริ่มจากทางเดินอาหารผิดปกติ อาเจียน ท้องเดิน เป็นตะคริว ความดันโลหิตต่ำ ผู้ที่ได้รับพิษอาจตายในระยะแรกที่ตับบวมโต เจ็บบริเวณตับและตับไม่ทำงานตามปกติ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- เห็ด Amanita verna หรือเรียกทั่วไปว่า "เห็ดระโงกหิน" มักขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกระจายไปตามป่าเบญจพรรณ ลักษณะดอกสีขาวบริสุทธิ์ หมวดเห็ดกว้าง 6-8 ซม.ผิวเรียบรูปกะทะคว่ำ เนื้อหมวกหนาไม่ติดกับก้าน ก้านดอกใหญ่ 2-3 ซม. ยาว 3-10 ซม. โคนใหญ่เป็นกระเปาะผิวเรียบ โคนก้านมีเปลือกหุ้มดอกอ่อนรูปถ้วยสีขาวหุ้มอยู่ ตอนบนมีวงแหวนเป็นแผ่นเนื้อเยื่อสีขาว สปอร์สีขาว รูปวงรี ผนังเซลล์เรียบ
- เห็ด Amanita pantherina มักขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 2-3 ดอก อยู่ใกล้ ๆ กัน ดอกเห็ดมีหมวกสีน้ำตาลอ่อนอมเหลืองมีเกล็ดใหญ่หยาบสีขาวหลุดง่าย กว้าง 6-7 ซม. ขอบหมวกเมื่อบานเต็มที่จะมีรอยหยักเล็ก ๆ ก้านสีขาวยาว 8-11 ซม.ใหญ่ 1-1.3 ซม. ก้านดอกโป่งเป็นกระเปาะและมีเปลือกหุ้มดอกอ่อนสีขาวแนบสนิทกับก้านดอกปลายบนของเปลือกหุ้มขาดเป็นวงแหวนชัดเจน ก้านดอกมีวงแหวนลักษณะเป็นแผ่นขอบแข็งยื่นออกไปเล็กน้อย ครีบหมวกขาวไม่ยึดติดกับก้าน สปอร์สีขาวรูปไข่ค่อนข้างกลม ผิวเรียบ ผนังบาง
- เห็ดขี้ควาย ชอบขึ้นบนมูลสัตว์ มีสาร Psilocybin ทำให้เกิดการประสาทหลอนทำให้รู้สึกสับสน กระวนกระวาย เวียนศรีษะ เห็ดชนิดนี้มีสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกสีน้ำตาลอมเหลืองและมีเกล็ดเล็ก ๆ กระจายห่างๆ ไปยังขอบหมวกเมื่อบานเต็มที่ ขอบหมวกไม่เรียบและมีรอยขาดบางแห่ง เวลาจับหรือมีแผลฉีกขาดเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม บนก้านดอกมีวงแหวนสีขาวเป็นเยื่อบาง ๆ
- เห็ดหัวกรวดครีบเขียวอ่อน เป็นดอกเดี่ยวและขึ้นเป็นวงกลมบนสนามหญ้า ถ้าผู้ใหญ่บริโภคจะมีพิษไม่ร้ายแรงนัก แต่ถ้าเป็นเด็กและรับประทานมากก็อาจตายได้ ลักษณะหมวกสีขาวมีเกล็ดน้ำตาลทั่วไป โคนก้านใหญ่เป็นกระเปาะเล็กน้อย ก้านดอกสีขาวหรือสีน้ำตาลอ่อนผิวเรียบขอบล่างสีน้ำตาลเป็นปลอก บนก้านดอกมีวงแหวนสีขาว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า โดยทั่วไปเห็ดพิษส่วนใหญ่มักจะมีสีสันฉูดฉาด แต่เห็ดพิษในสกุล Amanita ซึ่งมีพิษร้ายแรงมากกลับมีสีขาวคล้ายกลับเห็ดชะโงกหรือเห็ดไข่เป็ดซึ่งรับประทานได้ ชาวบ้านจึงมักทดสอบโดยการนำช้อนเงินหรือหัวหอมจุ่มลงในน้ำต้มเห็ด ซึ่งหากเป็นเห็ดพิษจะมีซัลไฟด์ออกมาจากเห็ดทำให้ช้อนเงินหรือหัวหอมกลายเป็นสีดำ แต่การทดสอบนี้ก็ยังไม่สามารถตรวจสอบเห็ดในสกุล Amanita บางชนิดได้ ดังนั้นถึงควรเลือกรับประทานแต่เห็ดที่ทราบชนิดและแหล่งที่มาแน่นอน ควรหลีกเลี่ยงเห็ดที่ไม่ทราบชนิดหรือเห็ดป่าที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่แน่ใจว่าจะมีพิษ นอกจากนี้หากพบเห็นผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากเห็ด ควรพยายามให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเห็ดพิษออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกด้วยไข่ขาว แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที พร้อมกับนำเห็ดที่รับประทานส่งไปด้วย เพื่อแพทย์จะได้ตรวจและทำการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป--จบ--