กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์
ก.ไอซีทีจับมือไอทียู ระดมซีไอโอและซีทีโอระดับนานาชาติหารือ ด้วยแนวคิด “นวัตกรรมรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ สู่เศรษฐกิจยุคดิจิตอล” แบ่งปันประสบการณ์และสร้างแนวทางความร่วมมือใหม่
นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า จากการสนับสนุนของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union — ITU) และหน่วยงานสำคัญ อาทิ International Academy of CIO (IAC), สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ CIO 16 Association of Thailand จะมีการจัดการสัมมนาวิชาการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์/ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศนานาชาติ ครั้งที่ 1 และการสัมมนาวิชาการนานาชาติเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสถาบันการศึกษา ครั้งที่ 1 (The 1st International e-Government/CIO Forum and The 1st International Academia Workshop) ภายใต้แนวคิด “นวัตกรรมรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ สู่เศรษฐกิจยุคดิจิตอล” (Innovative e-Government/CIO toward Digital Economy) ขึ้นระหว่างการจัดงาน ITU TELECOM WORLD 2013 วันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2556 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี และโรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
การจัดประชุมในครั้งนี้สำคัญและแตกต่างจาก “การประชุมวิชาการ CIO” ในระดับเวทีนานาชาติในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง ITU จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว โดยเป็นครั้งแรกที่ ITU จะสร้างมาตรฐานและพัฒนาการทำงานสู่ความเป็นสากลในระดับโลก โดยต้องการสนับสนุนภารกิจของ CIO เพื่อพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในด้านต่างๆ อาทิ รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สาธารณสุขอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สังคม การพัฒนาท้องถิ่น การเตรียมการรับภัยพิบัติ การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของหุ้นส่วนและเอกชนสาธารณะ (PPP) เป็นต้น
ที่สำคัญยังสนับสนุนความร่วมมือผ่านช่องทางออนไลน์ อันเป็นสังคมหรือชุมชนพื้นฐานในการพัฒนาเชิงปฏิบัติการ สร้างกระบวนการการแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพของ CIO รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ประเด็นสำคัญที่จะมีการหารือกับ CIO ในระดับนานาชาติของเวทีนี้คือ เรื่องประสิทธิภาพของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา, แนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และการปฏิบัติที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาประเทศ, การแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยว กับการศึกษา ITU และการวางแผนสำหรับอนาคต, บทเรียนการเรียนรู้จากประสบการณ์ของ CIO ภาคธุรกิจ, บทบาทและหน้าที่ของมหาวิทยาลัยต่อการพัฒนานวัตกรรม ICT, ประโยชน์และการสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัย ICT ระดับโลก และยังมี ปาถกฐาหลักของงาน ในหัวข้อ “e-Readiness toward Digital Economy” หรือความพร้อมด้านอิเล็กทรอนิกส์ สู่เศรษฐกิจยุคดิจิตอล