การประชุมหารือแบบทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและพม่าเรื่องการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสของผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ

ข่าวทั่วไป Monday November 11, 2013 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.-- สำนักความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) ร่วมกับกลุ่มความร่วมมือแห่งสหประชาชาติด้านการบริการสุขภาพแก่ผู้อพยพและผู้ป่วยโรคเอดส์ในทวีปเอเชีย (JUNIMA) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) ได้ร่วมกันจัดการประชุมหารือแบบทวิภาคีเรื่องความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพในกลุ่มผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ โดยการประชุมหารือครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ดร.Kyaw Khaing ผู้อำนวยการแผนกสาธารณสุขระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ประเทศพม่า และมร.ลุค สตีเว่นส์ ผู้ประสานงานองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทย ตลอดจนวิทยากรและบุคลากรผู้มีชื่อเสียงในวงการเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง การประชุมครั้งนี้ได้จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วัน โดยในวันแรกเป็นการเสวนาพูดคุยและการนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสุขภาพและการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพของผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติ และในวันที่สองเป็นการปฏิบัติงานกลุ่มร่วมกันเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ระดมความคิดเห็นและกลยุทธ์ในการส่งเสริมและพัฒนาบริการด้านสุขภาพแก่ผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติที่เดินทางจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทย ผลสัมฤทธิ์ของการประชุมหารือครั้งนี้คือแผนการดำเนินงานที่อิงกรอบเวลาซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ศักยภาพของระบบการดูแลสุขภาพ 2) ศักยภาพของระบบสุขภาพชุมชน 3) ความเชื่อมโยงและสอดรับในระบบการรักษา การดูแล และการสนับสนุนด้านสุขภาพระหว่างประเทศ และ 4) การบริหารจัดการงบประมาณสำหรับผู้อพยพในเรื่องการเข้าถึงบริการด้านการดูแลสุขภาพ ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า แผนการดังกล่าวได้ถูกคาดหมายว่าจะสามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้ภายในระยะเวลา 18 เดือนข้างหน้า ดร.สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการ สำนักโรคเอดส์ วัณโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ได้กล่าวว่า “จากการประชุมครั้งนี้ ผมคิดว่าเราได้พูดถึงประเด็นสำคัญหลายเรื่องซึ่งเคยเป็นอุปสรรคระหว่างทั้งสองประเทศ โดยการพูดคุยหารือครั้งนี้จะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้อพยพให้ดียิ่งขึ้น” ในขณะที่ ดร. Kyaw Khaing ในฐานะตัวแทนของประเทศพม่าได้กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมที่ได้ร่วมกันร่างแผนดำเนินงานอันจะนำไปสู่การเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในกลุ่มผู้อพยพที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้แสดงความคาดหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถขยายความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในอนาคต การประชุมหารือแบบทวิภาคีครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนความคิดริเริ่มในเรื่องการส่งเสริมนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) ซึ่งความสำเร็จของการประชุมครั้งนี้อาจถือเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจแก่ประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆที่กำลังดำเนินงานตามนโยบายหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ