กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
พบกับตุงรูปแบบต่าง ๆ สำหรับใช้ในกิจกรรมทางพุทธศาสนา อันเปี่ยมด้วยความวิจิตร สวยงามและคุณค่า ความนิยมของกลุ่มชาติพันธุ์ วันนี้ถึง ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูพงษ์ พงษ์เจริญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า “วัฒนธรรมหนึ่งของคนไทยที่สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนานนั่นคือ ภูมิปัญญาผ้าทอ ซึ่งมีกระบวนการผลิตอันน่าอัศจรรย์ และนอกจากจะนำผืนผ้ามาตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประดิษฐ์ขึ้นเพื่อพุทธศาสนาอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ตุง ที่ผ่านการประดิษฐ์ด้วยความเชื่อตามหลักธรรม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา อุทิศผลบุญให้กับผู้ล่วงลับ หรือเพื่อเป็นกุศลให้ตนเองในภพหน้า โดยรูปแบบของตุงจะมีความสวยงามแตกต่างกันไปตามลักษณะของกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ไทลื้อนิยมทอตุงลายปราสาท ไทยวนนิยมทอตุงใย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงจัดนิทรรศการ ‘ตุง’ ขึ้น เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับตุง ซึ่งเป็นงานประดิษฐ์ในวัฒนธรรมของชาวพุทธ อันจะนำมาสู่การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของบรรพชนต่อไป”
ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “นิทรรศการ ‘ตุง’ กำหนดจัดขึ้นในวันที่ ๗ ตุลาคม — ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร พบกับตุงหลากหลายรูปแบบจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ผ้า, เศษผ้า, กระดาษ, เส้นด้าย, ไม้ เป็นต้น ซึ่งนำมาใช้ในงานมงคลและงานอวมงคล อาทิ ตุงสิบสองราศี, ตุงหางฝ้าย, ตุงบอก, ตุงใย, ตุงช่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีตุงลวดลายต่าง ๆ เช่น ปราสาท, สัตว์, พญานาค, ข้าทาสบริวารชายหญิงหรือข้าวของเครื่องใช้ที่เชื่อว่าเมื่อผู้ถวายตุงเสียชีวิตแล้วจะได้นำติดตัวไปใช้ในภพหน้า ”
ขอเชิญทุกท่านร่วมอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของบรรพชนอันสะท้อนศรัทธาและความเชื่อในนิทรรศการ ”ตุง” ทุกวันจันทร์ — วันเสาร์ เวลา ๐๘.๓๐ — ๑๖.๓๐ น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๖ ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่งานพิพิธภัณฑ์ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๑๘