กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
เครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานคร ย้ำภาครัฐ ให้ความสำคัญด้านภาษาไทยให้มากขึ้น ระบุแม้ประเทศไทยจะเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 “ภาษาไทยยังต้องเป็นภาษาชาติ” พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้ “ปีการศึกษา 2556 เป็นปีแห่งการเพิ่มคุณภาพการศึกษา” เร่งจัดการฝึกอบรมครูให้มีความรู้ ความเข้าใจ ตลอดจนมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทย เพื่อพัฒนาครูนำไปถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพ ติงภาครัฐควรหันมาใส่ใจภาคการศึกษาเอกชนที่ต้องแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นและในปัจจุบันโรงเรียนนานาชาติเหล่านี้ได้ปรับค่าเล่าเรียนให้ต่ำลงจนมีราคาใกล้เคียงกับการศึกษาภาคเอกชนไทยแล้ว
อาจารย์จินดา ตันตราจิณ ในฐานะประธานกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานครและผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาพงศ์ เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ หรือภาษาประจำชาติของอาเซียน เช่นคำทักทายง่ายๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 แล้ว แต่เด็กไทยและเยาวชนไทย จำเป็นต้องศึกษาภาษาไทยให้แตกฉาน เนื่องจาก “ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติ” มีการสืบทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยทุกคนควรที่จะมีความรักและหวงแหน ตลอดจนช่วยกันจรรโลงรักษาภาษาไทยไว้ให้ลูกๆ หลานๆ ได้เห็นและเกิดความภาคภูมิใจ ในเวลานี้ประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิกอาเซียน ในหลายๆ ประเทศอาทิ พม่า ลาว กัมพูชา มีการจัดให้บุคลากรในประเทศเรียนภาษาไทยอย่างขะมักเขม้น เพราะแต่ละประเทศเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปิดเสรีเออีซีในอีก 2 ปีข้างหน้า
อาจารย์จินดา กล่าวอีกว่า ในปีนี้ กระทรวงศึกษาได้ประกาศให้ “ปีการศึกษา 2556 เป็นปีแห่งการเพิ่มคุณภาพการศึกษา” โดยในกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชน ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการเรื่อง “ภาษาไทย ภาษาชาติ” เพื่อต้องการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และต้องการที่จะพัฒนาครูเอกชนให้มีความรู้ ความเข้าใจตลอดจนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยเพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่ผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามบรรลุวัตถุประสงค์ จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการอบรมโครงการภาษาไทย ภาษาชาติ” ประกอบด้วย นายสมยศ ศิริบรรณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเอกชน เป็นประธานคณะกรรมการ และนายสุนทร เชี่ยวพานิช ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมโรงเรียนเอกชน และอาจารย์จินดา ตันตราจิณ ผู้อำนวยการโรงเรียนจินดาพงศ์ เป็นกรรมการฯ ร่วมด้วยกรรมการท่านอื่นๆ อีกจำนวน 26 คน ทำหน้าที่วางแผน ให้คำปรึกษา แนะนำ กำกับดูแล แก้ปัญหา สนับสนุน และอำนวยการให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุเป้าหมาย ซึ่งการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ นับเป็นกลยุทธ์ในการที่จะพัฒนาบุคลากรของชาติให้รู้เท่าทันอาเซียน ซึ่งต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วน
ประธานกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนเอกชนกรุงเทพมหานคร ยังกล่าวว่าในอนาคต ในส่วนของภาคการศึกษากับอาเซียน เรามีการสนับสนุนแนวคิดเรื่อง Education Hub ในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน เด็กนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนในไทย หรือเด็กนักเรียนของไทยไปเรียนในโรงเรียนต่างชาติและการปรับหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรสากลมากขึ้น แต่ทั้งนี้อยากให้ภาครัฐได้เข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบดูแลธุรกิจการศึกษาภายในประเทศด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของโรงเรียนเอกชนของไทย ที่ต้องหันมาแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติ ที่เริ่มมีโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งจุดอ่อนของผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนของไทยคือมีทุนหรือแหล่งเงินทุน ไม่มากเพียงพอที่จะแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติได้