Fitch Street InterView: การดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ใบอนุญาต 3G เป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 13, 2013 13:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่ากฎระเบียบและนโยบายของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยที่พัฒนาดีขึ้น หลังจากการออกใบอนุญาตสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ส่งผลให้ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่สุดสองรายของไทย อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่คาดว่าจะสูงขึ้น และกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) ที่คาดว่าจะเป็นลบ จะยังคงเป็นปัจจัยลบต่อผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในช่วงการย้ายการดำเนินธุรกิจไปยังระบบใบอนุญาต เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2556 ฟิทช์ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ AIS ซึ่งให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G เป็น ‘AA+(tha)’ จาก ‘AA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คแซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เป็น ‘AA(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ และอันดับเครดิตสากล (Issuer Default Rating) ของ DTAC เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB-’ สาเหตุของการปรับเพิ่มอันดับเครดิต การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนมุมมองของฟิทช์ที่ว่า ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและนโยบายของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยได้ปรับตัวดีขึ้น หลังจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้จัดการประมูลใบอนุญาต 3G ในเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งฟิทช์ได้ปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของ AIS และ DTAC เป็นบวก ในเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอันดับเครดิตดังกล่าวมีโอกาสที่จะได้รับการปรับเพิ่ม และการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในเดือนตุลาคม 2556 แสดงให้เห็นว่าประโยชน์จากใบอนุญาต 3G ต่อผู้ประกอบการชัดเจนมากพอ สำหรับอันดับเครดิตที่สูงขึ้น ประโยชน์จากการได้รับใบอนุญาต 3G ผู้ประกอบการโทรคมนาคมเอกชนสามารถย้ายการดำเนินธุรกิจ และฐานลูกค้าไปยังระบบใบอนุญาต ซึ่งมีความชัดเจนด้านกฎระเบียบและนโยบาย และทำให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการมีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับระบบสัญญาสัมปทานที่ทำขึ้นระหว่างผู้ประกอบการเอกชนและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ภายใต้ระบบใบอนุญาต ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจภายใต้กฏระเบียบเดียวกัน ซึ่งกำหนดโดย กสทช. ผู้ประกอบการมีสิทธิในการใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นระยะเวลา 15 ปี และเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งหมด ในขณะที่ระบบสัญญาสัมปทาน ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะต้องถูกโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้สัมปทาน นอกจากนี้ การโอนย้ายไปยังระบบใบอนุญาตยังช่วยลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนด้านกฏหมาย และกฏระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทาน รวมถึงการตรวจสอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีตโดยรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลหรือผู้ให้สัมปทานหรือการยกเลิกสัญญาสัมปทาน โดยความเสี่ยงดังกล่าวเป็นความกังวลของฟิทช์ในอตีต ต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย และเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของผู้ประกอบการ สาเหตุที่ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตสากลของ DTAC แต่ไม่เพิ่มอันดับเครดิตสากลของ AIS ฟิทช์จัดอันดับเครดิตสากลของ AIS ที่ ‘BBB+’ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตสากลของ DTAC เนื่องจากอัตราส่วนกำไร และสถานะทางการตลาดที่ดีกว่าของ AIS อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลของ AIS ไปอยู่ในอันดับเครดิตระดับ ‘A’ บริษัทจะต้องมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวก และกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของบริษัทส่วนใหญ่จะต้องมาจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ภายใต้ระบบใบอนุญาต ซึ่งฟิทช์คากว่าปัจจัยดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า ความเสี่ยงอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ถึงแม้ว่าสภาวะแวดล้อมของอุตสาหกรรมไทยจะปรับตัวดีขึ้น ฟิทช์มองว่าจะยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม เนื่องการย้ายการดำเนินงานและฐานลูกค้าไปยังระบบใบอนุญาตของผู้ประกอบการน่าจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว และฟิทช์คาดว่าจะมีการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น การแข่งขันน่าจะรุนแรงสำหรับกลุ่มลูกค้าระดับกลางถึงล่าง โดยผู้ประกอบการน่าจะมีการเสนอโปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้าเช่นการลดราคาค่าบริการและราคาเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเร่งรัดการโอนย้ายไปยังระบบใบอนุญาต ซึ่งอาจส่งผลให้มีการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น และส่งผลให้อัตราส่วนกำไรของผู้ประกอบการลดลง นอกจากนี้การลงทุนเพื่อก่อสร้างเครือข่ายโทรศัพท์ 3G ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกระแสเงินสดสุทธิติดลบในช่วง 2 ปีข้างหน้า และส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น ผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ AIS และ DTAC ฟิทช์คาดว่าการแข่งขัน และการลงทุนที่สูง ไม่น่าจะมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ AIS และ DTAC เนื่องบริษัททั้งสองมีกระแสเงินสดที่แข่งแกร่ง และมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตปัจจุบัน ทั้งนี้อันดับเครดิตดังกล่าวได้พิจารณาถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนที่สูงดังกล่าวไว้แล้ว ฟิทช์คาดว่าสถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ AIS และ DTAC น่าจะยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงาน (Funds flow from Operation (FFO)- adjusted net leverage ratio) ของ AIS และ DTAC น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า และ 2.5 เท่า ตามลำดับ ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2556 AIS และ DTAC มีอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวที่ 0.33 เท่า และ 0.89 เท่า ตามลำดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ