“เดคูพาจ” งานหัตถศิลป์เพื่อเสริมทักษะอาชีพ รร.สตรีระนอง สร้าง “เครือข่ายครู” ขยายความรู้สู่นักเรียนด้อยโอกาสในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Wednesday November 13, 2013 18:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ไอแอม พีอาร์ “งานศิลปหัตถกรรม” ในปัจจุบันอาจถูกมองว่าเป็น “ทักษะอาชีพ” ที่ไม่น่าจะสร้างความมั่นคงยั่งยืนในการดำรงชีวิตได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วงาน “ศิลปหัตถกรรม” เป็น “ทักษะชีวิต” ที่สำคัญที่สร้างพื้นฐานของ “ความพอเพียง” ที่สำคัญหากนำ “ความคิดสร้างสรรค์” มาผนวกเข้าไปก็จะเกิดเป็นงาน “หัตถศิลป์” ที่มีคุณค่า มีราคา และมีตลาดรองรับ เช่นเดียวกับงาน “เดคูพาจ” ที่ “นางจิตฤทัย ทองปัทม์” ครูจาก “โรงเรียนสตรีระนอง” ผู้ได้ รับ “ทุนครูสอนดี” จากโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในการจัดทำโครงการ “พัฒนางาน ประสานคน เพื่อเด็กและเยาวชนด้วยโอกาส” เพื่อฝึกทักษะอาชีพ “การจักสาน” และตกแต่งผลงานด้วย “เดคูพาจ” ให้กับเครือข่ายครูและเด็กนักเรียนที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ของจังหวัดระนอง เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างรายได้เสริม แบ่งเบาภาระครอบครัวระหว่างเรียน โดยงาน "เดคูพาจ" (Decoupage) นั้นเป็น การนำ “กระดาษแน็พกิ้น” ที่มีลวดลายสีสันต่างๆ หรือ แสตมป์ ภาพถ่าย รูปภาพ ฯลฯ มาติดและตกแต่งบนชิ้นงาน ไม่ว่าจะเป็น ไม้ ขวดแก้ว กระเบื้อง กระถาง ตะกร้าพลาสติก ตะกร้าที่สานจากหวาย ใบลาน ผักตบชวา หรือบนพื้นผิวของภาชนะต่างๆ “เพราะงานจักสานและงานเดคูพาจกำลังได้รับความนิยมอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการที่เราจะสอนนักเรียนหรือฝึกให้นักเรียนทำอะไรสักอย่างก็น่าจะเป็นงานที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ความน่าสนใจของงานเดคูพาจก็คือ เราสามารถสร้างสรรค์ออกแบบลวดลายได้ตามความต้องการของเรา ขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก จึงนำเอามาใช้ฝึกสอนให้กับนักเรียนในโรงเรียนสตรีระนอง และครูเครือข่ายจำนวน 15 คน จาก 12 โรงเรียนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้นำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้กับเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสในโรงเรียนของตัวเอง” ครูจิตฤทัยเล่าถึงความเป็นมาของการจัดทำโครงการ โดยขั้นตอนการผลิตชิ้นงานจะเริ่มจากการ “ฝึกทักษะในการจักสาน” ภาชนะหรือกระเป๋าในรูปแบบต่างๆ โดยใช้เส้นพลาสติก ซึ่งจะใช้เวลาในการเรียนรู้ประมาณ 1-2 วัน เมื่อมีความชำนาญแล้วก็สามารถออกแบบให้มีรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการขึ้นอยู่กับไอเดียของแต่ละคน เมื่อสานกระเป๋าเสร็จก็จะนำมาตกแต่งด้วย “เดคูพาจ” ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ง่ายใช้เวลาเรียนรู้ไม่นาน เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถทำได้ เริ่มจากการทา “กาวลาเท็กซ์” ลงบนชิ้นงานที่ต้องการตกแต่ง แล้วนำ “กระดาษแน็พกิ้น” หรือกระดาษลวดลายมาแปะลงบนชิ้นงาน เป่าด้วยไดร์เป่าผมเพื่อให้กาวแห้ง แล้วใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำหมาดๆ กดเพื่อให้กระดาษแนบสนิทกับชิ้นงาน แล้วทาด้วย “น้ำยาวานิช” เคลือบประมาณ 2-3 ครั้ง และในการเคลือบแต่ละครั้งจะต้องใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้งทุกครั้ง “สำหรับงานเดคูพาจเป็นงานที่ทำง่ายมาก เพียงแต่เราเอากระดาษลายไปแปะบนชิ้นงานก็จะเสร็จแล้ว เพราะฉะนั้นนักเรียนก็จะสนุกกับการทำ แล้วหลังจากที่ได้ชิ้นงานแล้วก็สามารถจำหน่ายได้ด้วย โดยที่เราจะคิดกำไรประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของราคาทุน ที่ผ่านมาก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี ทำให้เด็กๆ มีรายได้ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์งานขึ้นมา” ครูจิตฤทัยกล่าว น.ส.มาลินี มโนธรรม หรือ “น้องแอฟ” นักเรียนชั้น ม.5 รร.สตรีระนอง เล่าว่ามีความชื่นชอบในงานศิลปหัตถกรรมด้านต่างๆ อยู่แล้ว เมื่อมาเรียนการทำเดคูพาจใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็สามารถทำได้ และงานประเภทนี้เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีต มีคนทำน้อย สามารถตกแต่งลงบนวัสดุได้ทุกชนิด “กระเป๋าเก่าๆ ก็มาตกแต่งให้เป็นของใหม่ได้ ตะกร้าหวาย พลาสติก ไม้ ก็สามารถทำได้ขึ้นอยู่กับไอเดียและฝีมือ ทำให้สามารถสร้างผลงานออกมาได้หลายหลาย โดยเฉพาะตอนนี้การทำเดคูพาสตกแต่งในเคสของโทรศัพท์มือถือกำลังเป็นที่นิยม ก็คิดว่าจะลองทำขาย เพราะนอกจากจะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนให้เป็นประโยชน์แล้วยังมีรายได้จากการขายชิ้นงานได้อีกด้วย” น้องแอฟกล่าว น.ส.วริษา ธรรมศิริ หรือ “น้องมีน” นักเรียนชั้น ม.6 รร.สตรีระนอง เล่าว่างานเดคูพาสมีความน่าสนใจ ไม่จำเป็นต้องใช้ฝีมือทางศิลปะมาก เพียงแต่ต้องรู้จักเลือกแบบลวดลายและสีสันของกระดาษที่จะนำมาตกแต่งลงบนวัสดุให้เหมาะสมกับแต่ละชิ้นผลงานก็ออกมาสวยแล้ว “ระหว่างทำเรายังสามารถคุยเล่นไปกับเพื่อนๆ ได้ ไม่เหมือนกับการงานศิลปะอื่นๆ ที่ต้องใช้สมาธิมาก และการที่เราสามารถผลิตข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ด้วยฝีมือของเราเองก็เป็นความภูมิใจ ไม่ต้องเสียเงินไปซื้อเพราะที่บ้านของหนูมีฐานะยากจน งานเดคูพาสจึงเป็นงานที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เราได้ ทำของใช้ต่างๆ ขึ้นได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่นๆ” น้องมีนกล่าว ด้านเครือข่ายครูในจังหวัดที่ร่วมกับ “ครูจิตฤทัย” ขยายผลการฝึกทักษะอาชีพออกไปสู่เด็กด้อยโอกาสในพื้นที่ “นางสุทธิลักษณ์ บิลละโสย” จาก รร.เทศบาลบ้านเขานิเวศน์ กล่าวว่ากิจกรรมนี้เป็นการช่วยขยายโอกาสให้เด็กที่มีฐานะยากจน กำพร้า หรือพลัดถิ่น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ตัวเด็กๆ จะได้ฝึกทักษะอาชีพที่สามารถนำไปใช้ได้จริงแล้ว ผลงานที่คิดและประดิษฐ์ขึ้นยังสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนจากการประกวดแข่งขันทักษะฝีมือ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนระดับภาค “ทุกวันนี้เด็กๆ จะประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ทั้งจากเส้นพลาสติกและวัสดุจากธรรมชาติอย่างใบเตยป่าหรือเศษผ้า ก่อนนำมาตกแต่งให้สวยงามด้วยเดคูพาส โดยใช้เวลาว่างที่บ้านหรือหลังเลิกเรียนแล้วก็รวมกลุ่มนำไปขายที่สะพานปลาให้กับนักท่องเที่ยวและคนงานชาวพม่า ได้ความความสนใจอย่างดี และมีกำไรต่อชิ้นงานไม่น้อยกว่า 100-200 บาท” ครูสุทธิลักษณ์เล่าอย่างภูมิใจแทนลูกศิษย์ สำหรับแนวคิดในการต่อยอดการดำเนินงานนั้น “ครูจิตฤทัย” บอกว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานเหล่านี้เกิดความยั่งยืนก็คือ “การมีตลาดรองรับ” ซึ่งจะช่วยสร้างกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานของเด็กนักเรียนที่เข้าร่วมในโครงการ เพราะหลายคนสามารถออกแบบและสร้างสรรค์ชิ้นงานที่สวยงามและมีความหลายหลายมากขึ้น ประกอบกับทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดระนอง ได้เห็นความสำคัญของกิจกรรมดังกล่าว จึงให้การสนับสนุนในการนำสินค้าไปจำหน่ายที่ศูนย์ OTOP ของจังหวัด “เพราะเมื่อเด็กๆ ถ้าทำเป็นแล้ว และสามารถขายได้ด้วย เขาก็จะมีกำลังใจ เพราะฉะนั้นการที่เราหาตลาดรองรับเอาไว้ให้กับเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ เขาก็จะเห็นความสำคัญของงานอาชีพเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่โรงเรียนสตรีระนอง หรือนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่าย ก็หวังว่าอยากให้นักเรียนทุกคนอย่างน้อยก็ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ มีทักษะด้านงานอาชีพ แล้วยังสามารถเวลาว่างผลิตชิ้นงานไปถึงขั้นจำหน่ายได้เพื่อหารายได้เลี้ยงตัวเอง และช่วยแบ่งเบาภาระของทางบ้านได้” ครูจิตฤทัยกล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ