กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ไอแอม พีอาร์
การศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งเน้นในด้าน “ทักษะวิชาการ” อาจจะไม่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นหรือชุมชนในหลายพื้นที่ของประเทศ ที่ต้องการคนรุ่นใหม่วัยแรงงานที่มี “คุณภาพ” และมี “ทักษะอาชีพ” พร้อมทำงานทันทีเมื่อก้าวพ้นจากรั้วของการศึกษาภาคบังคับ
โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ลึกเข้าในป่าใกล้กับชายแดนไทยมาเลเซีย ชุมชนโดยรอบประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและมีฐานะยากจน และมีนักเรียนจำนวนกว่าร้อยละ 20 ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ เพราะต้องออกไปช่วยครอบครัวประกอบอาชีพเนื่องจากปัญหาปัจจัยทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการเรียนรู้ “ทักษะชีวิต” และ “ทักษะอาชีพ” ของเด็กนักเรียนจึงมีความจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการศึกษาทางด้านวิชาการ
ถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและเสี่ยงภัย แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน “โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สู่วิถีชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” ของ “นายสุเทพ เท่งประกิจ” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” จาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค. จึงเกิดขึ้นเพื่อปลูกฝังสร้างทักษะอาชีพที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น บนพื้นฐานของความพอเพียง เพื่อเตรียมความพร้อมให้เยาวชนที่กำลังจะจบการศึกษาออกไปสู่ภาคแรงงานอย่างมีคุณภาพ เป็นแรงงานที่มีฝีมือ เป็นที่ต้องการของท้องตลาด มีคุณธรรมจริยธรรม ประกอบอาชีพที่สุจริต และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
“เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวใจหลักของการจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยเฉพาะเด็กที่จบไปแล้วควรที่จะต้องมีพื้นฐานอาชีพและทักษะชีวิตที่จำเป็นในการอยู่ในสังคม เพราะปัจจุบันเรื่องของอาชีพและเรื่องของเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อความชีวิตและความเป็นอยู่ของนักเรียน ศูนย์การเรียนรู้ในแต่ละอาชีพจึงเกิดขึ้นมาเพื่อให้นักเรียนได้มีทักษะพื้นฐานด้านอาชีพที่ตัวเองถนัด เพื่อให้เขาจบออกไปแล้วสามารถมีพื้นฐานทางด้านอาชีพที่สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ ในการทำงานและการดำรงชีวิตในสังคมได้ตามความเหมาะสม” ครูสุเทพระบุถึงที่มาของโครงการและกิจกรรมต่างๆ
โดยแหล่งเรียนรู้ทักษะอาชีพของโรงเรียนบ้านคลองน้ำใสจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาชีพหลักคือ “อาชีพด้านการเกษตร” ที่เน้นในเรื่องของเกษตรทฤษฏีใหม่ ประกอบไปด้วย สวนยาพาราสาธิตจำนวน 3 ไร่, แปลงเกษตรถาวรเพื่อปลูกพืชผักสวนครัวจำนวน 10 แปลง, บ่อเลี้ยงปลาดุกและปลานิลจำนวน 2 บ่อ, โรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า, การทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ, การปลูกกล้วย และ การเรียนรู้ภูมิปัญญาชุมชนด้านศิลปะหัตกรรมต่างๆ เช่นการสานตะกร้า ชะลอม สุ่มไก่ ฯลฯ
ส่วน “อาชีพในเชิงช่าง” จะประกอบไปด้วย ช่างเย็บผ้า, ช่างอิเล็กทรอนิกส์, ช่างไฟฟ้า, ช่างเชื่อม, ช่างไม้, ช่างยนต์, ช่างตัดผม นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ การประกอบอาหาร และการทำขนมต่างๆ
รวมถึง การประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้จากวัสดุเหลือใช้ จากกะลามะพร้าวหรือไม้มะขาม โดยผลงานที่สร้างชื่อเสียงในระดับประเทศคือการประดิษฐ์ “ไก่แจ้ซารามอ” จากขวดน้ำพลาสติก
ซึ่งแต่และกิจกรรมนักเรียนชั้น ม.1 ถึง ม.3 จะได้เรียนรู้และฝึกทักษะในสิ่งที่ตนเองสนใจในทุกๆ ขั้นตอนตั้งแต่การปลูก ดูแล เก็บผลผลิต และจำหน่าย รวมไปถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ การคิดคำนวณต้นทุนกำไร ไปพร้อมกับการได้รับการปลูกฝังแนวทางการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากครูผู้สอนที่ดูแลในแต่ละกิจกรรม โดยจะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนหรือในช่วงวิชาเสริม เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้ โดยมีคณะครูให้การดูแลตลอดเวลา นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนรุ่นน้องชั้นประถมสามารถไปร่วมกิจกรรมกับรุ่นพี่ได้หากมีความสนใจ
นายศรัทธา ห้องทอง ผอ.โรงเรียนบ้านคลองน้ำใส เปิดเผยว่า รูปแบบการศึกษาในปัจจุบันที่มุ่งเน้นไปผลสัมฤทธิ์และยึดถือการสอบวัดผลต่างๆ ของเด็กเป็นสำคัญ จะทำให้เด็กไทยขาดจิตสาธารณะและขาดทักษะชีวิต ดังนั้นรูปแบบการจัดการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้จะเน้นที่ “การศึกษาเพื่อชีวิต” โดยบูรณาการศาสนา วิชาการ และงานอาชีพ เข้าไว้ด้วยกันให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชน และตอบโจทย์ความต้องการด้านแรงงานของท้องถิ่น
“ปัญหาความสันติสุขในชายแดนใต้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความยากจน ดังนั้นเราจึงต้องแก้ที่ต้นเหตุ ด้วยการให้การศึกษาที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตและความต้องการของท้องถิ่น โดยโครงการนี้นักเรียนจะได้ฝึกทักษะอาชีพต่างๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียนรู้ เพื่อให้เขาก้าวสู่สังคมได้อย่างมั่นใจ ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางที่สำคัญในการมีอาชีพที่ตนเองชอบและถนัด” ผอ.ศรัทธาระบุ
ด.ญ.รุสนา มูซอ หรือ “น้องซะห์” นักเรียนชั้น ม.3 และ ด.ญ.อาตีกะห์ ลาเตะ หรือ “น้องกะห์” นักเรียนชั้น ม.2 ช่วยกันเล่าว่า ได้มาเรียนรู้ในทักษะอาชีพด้านต่างๆ เช่นการทำอาหาร การทำขนมเบเกอรี่ การปลูกพืชผักสวนครัว การตัดเย็บเสื้อผ้าฯลฯ รวมไปถึงหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถนำประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตได้ในหลายๆ เรื่อง
“ชอบเรียนการทำอาหารมากที่สุด เพราะสามารถนำไปใช้ได้จริง ไม่ว่าจะทำให้คนในครอบครัวทาน หรือในอนาคตถ้าอยากจะเปิดร้านอาหารก็สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้” น้องซะห์กล่าว
“ได้มาฝึกทักษะในเรื่องของการทำขนม ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต เพราะในชุมชนของตัวเองยังไม่ร้านขนมหรือเบเกอรี่แบบนี้” น้องกะห์เสริม
กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับชุมชนบ้านคลองน้ำใสซึ่งเป็นถิ่นทุรกันดารอยู่ห่างไกลความเจริญ ถ้าเราได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้เกิดการกระบวนการเรียนรู้ นักเรียนก็จะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บูรณาการกับชีวิต และก็อยู่กับครอบครัวได้อย่างมีความสุข เพราะการนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเช่นความพอเพียงหรือความพอประมาณ มาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต หลักคิดตรงนี้ก็จะช่วยให้เกิดแนวทางการดำรงชีวิตที่ราบรื่น ซึ่งความคาดหวังอีกส่วนก็คือนักเรียนที่จบออกไปแล้ว ให้เขาได้มีพื้นฐานทางด้านอาชีพที่ถนัดและสนใจ และในส่วนที่สอง ทักษะอาชีพต่างๆที่มีจะเป็นพื้นฐานให้กับนักเรียนที่จบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อ รวมถึงสามารถเป็นพื้นฐานในการจะก้าวต่อไปในเรื่องของอาชีพในระดับที่สูงขึ้นไปได้” ครูสุเทพกล่าวสรุป.