กรุงเทพ--9 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข
กระทรวงสาธารณสุข ใช้กลยุทธ์ การศาสนานำการพัฒนาสาธารณสุข เร่งพัฒนางานบริการสาธารณสุขใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ เผยขณะนี้สามารถแก้ปัญหาเด็กตาบอดจากการขาดวิตามินเอได้สำเร็จแล้ว
พลเรือตรีนายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุมผู้บริหารสาธารณสุขประจำเขต 12 ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ จ.พัทลุง ตรัง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ประกอบด้วยผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ และเจ้าหน้าที่สาธารสุขระดับหัวหน้าฝ่าย ซึ่งจัดประชุมที่โรงพยาบาลยะลาเมื่อเช้าวันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานรวมทั้งปัญหาอุปสรรคในรอบ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2540
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า สำหรับปัญหาสาธารณสุขของเขต 12 ที่ต้องเร่งพัฒนาเป็นกรณีพิเศษก็คือพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ซึ่งประชาชนร้อยละ 58 นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้พื้นที่มีความแตกต่างจากพื้นที่ทั่วไป โดยปัญหาสาธารณสุขประจำถิ่นที่สำคัญ ส่วนใหญ่ยังมีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อ อันดับหนึ่งได้แก่ การติดเชื้อทางระบบทางเดินอาหาร รองลงมาคือการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจส่วนบน โรงปอดบวม นอกจากนี้ยังเป็นเขตที่มีรายงานการเสียชีวิตของแม่และเด็กแรกเกิด มากที่สุดในประเทศ ในปีที่ผ่านมามีมารดาเสียชีวิต 17 ราย เด็กแรกเกิดเสียชีวิต 548 ราย โดยมีสาเหตุมาจากการนิยมคลอดบุตรที่บ้าน และไม่นิยมฝากครรภ์ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งแก้ไขโดยจัดอบรมหมอตำแยซึ่งมีประมาณ 8,000 คน ให้สามารถทำคลอดและดูแลเด็กแรกเกิดได้อย่างถูกต้องปลอดภัย พบว่าได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ปัญหาของเด็กก่อนวันเรียนอีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือปัญหาตาบอดจากการขาดวิตามินเอ ซึ่งในช่วงปี 2535 มีรายงานตรวจพบเด็กที่ขาดวิตามินเอในระดับแสดงอาการทางคลินิคคือ กระจกตาเป็นแผล ประมาณร้อยละ 1 และพบกระจกตามีลักษณะขุ่นเหลว ประมาณร้อยละ 0.4 สูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้คือไม่เกินร้อยละ 0.05 และ 0.01 ตามลำดับ ซึ่งหลักจากการที่กระทรวงสาธารณสุขเร่งรณรงค์แก้ปัญหาโดยการจ่ายยาวิตามินเอให้เด็กแรกเกิดทุกราย มาตรการการเติมวิตามินเอในนมข้นหวานทุกยี่ห้อ และการส่งเสริมการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะการส่งเสริมให้เด็กกินนมแม่ ซึ่งเป็นสารอาหารที่มีวิตามินเอสูง ผลการดำเนินงานพบว่าได้ผลดี ถึงขั้นประสบผลสำเร็จ จากการเฝ้าระวังติดต่อกัน 3 ปี จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่พบเด็กเป็นโรคนี้แต่อย่างใด
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการพัฒนางานสาธารณสุขในภาพรวมของเขต 12 ที่ผ่านมา พบว่าบรรลุผลในระดับที่น่าพอใจ ประชาชนในหมู่บ้านสามารถเข้าถึงบริการได้ร้อยละ 97 สถานีอนามัยร้อยละ 55 เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นกรณีพิเศษ จำนวน 131 ล้านบาท และในปี 2541 ได้รับการจัดสรรเพิ่มประมาณ 370 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นการพัฒนาทุกด้านพร้อมกันทั้งสถานบริการ บุคลากร และเครื่องมือทางการแพทย์ โดยให้ทุกจังหวัดใช้กลยุทธ์คือ ศาสนานำการพัฒนาการสาธารณสุข--จบ--