กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--ไอแอม พีอาร์
การจัด “การเรียนร่วม” เป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเด็กที่บกพร่องทางสติปัญญาและบกพร่องทางการเรียนรู้ เพื่อให้มีโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตัวผู้เรียน แต่ในปัจจุบันโรงเรียนหลายแห่งยังขาดความรู้ และแนวทางการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ให้ได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ตามศักยภาพที่เหมาะสมกับตนเอง
โรงเรียนหนองบ่อสามัคคีวิทยา จ.อุบลราชธานี เป็นโรงเรียนต้นแบบที่มีการพัฒนาจัดทำ “หลักสูตรการจัดการเรียนร่วม” มาตั้งแต่ปี 2550 และยังเป็นโรงเรียนแกนนำในการถ่ายทอดความรู้ออกไปสู่เครือข่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากความทุ่มเทมุ่งมั่นตั้งใจของ “นางพิณทิพย์ แสงสาคร” ครูผู้ได้รับ “ทุนครูสอนดี” ในการจัดทำโครงการ “พัฒนาศักยภาพนักเรียนเรียนร่วมโรงเรียนหนองบ่อสามัคคีวิทยา” เพื่อให้เด็กเรียนร่วมได้รับการศึกษาที่เหมาะสม และสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยดำเนินงานภายใต้ “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี” ที่ขับเคลื่อนโดย สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน หรือ สสค.
“การพัฒนาศักยภาพนักเรียนเรียนร่วม เป็นการดูแลอย่างเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กแต่ละคน เพื่อให้เขาได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับศักยภาพ ด้วยการพยายามดึงเอาส่วนที่เป็นศักยภาพของเด็กซึ่งเขาน่าจะทำได้ดีที่สุดขึ้นมาแสดงให้ทุกคนได้เห็นและได้ประจักษ์ว่าเขาสามารถทำได้ และเด็กทุกคนก็สามารถพัฒนาได้ถ้าเรามุ่งมั่นและตั้งใจ” ครูพิณทิพย์กล่าว
โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ และสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลายไปตามลักษณะของผู้เรียน ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของครูผู้สอน มีออกแบบกิจกรรมสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ฝึกทักษะการประกอบอาชีพตามความถนัดและสนใจ และขยายเครือข่ายการจัดการเรียนร่วมไปสู่โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี
แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการจัดการเรียนร่วมให้กับกลุ่มเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ให้เกิดการพัฒนาตัวของเด็กได้มากที่สุดนั้น “ครูพิณทิพย์” กล่าวว่า “การออกแบบหลักสูตร” ที่เหมาะสมกับตัวของเด็กแต่ละคน รวมไปถึงการ “ปรับเปลี่ยนวิธีคิด” และ “วิธีการสอน” ของครูผู้สอน ก็จะช่วยทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการพัฒนาศักยภาพได้ทัดเทียมกับเด็กปกติ
“การจัดการเรียนรู้ใดๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือโครงสร้างของการที่เรานำไปจัดการเรียนรู้เขาได้ประสบความสำเร็จ หลักสูตรจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหลักสูตรจะเป็นตัวกำหนดว่าเขาควรจะได้รับการจัดการเรียนรู้อย่างไร คุณลักษณะที่จะเกิดกับเขาควรจะมีอะไรบ้าง เพราะถ้าเรายึดแต่หลักสูตรแกนกลางเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาก็คงจะไม่จบการศึกษาแน่นอน” ครูพิณทิพย์ระบุ
ด้วยเหตุนี้การจัดการเรียนร่วมในโรงเรียนต้นแบบแห่งนี้จึงได้มีการปรับหลักสูตรให้เหมาะสมสำหรับเด็กหรือ “การจัดหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานสำหรับกลุ่มเฉพาะ” โดยใช้การปรับลดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ตัวชี้วัด และการประเมินผลจากหลักสูตรแกนกลางลง โดยครูผู้สอนแต่ละคนจะสำรวจและเรียนรู้จากเด็กแต่ละคนว่ามีความบกพร่องในด้านไหน และมีศักยภาพในเรื่องใด แล้วนำจุดที่สำรวจและเรียนรู้จากเด็กแต่ละคนว่ามีความบกพร่องในด้านไหน และมีศักยภาพในเรื่องใด แล้วนำจุดที่เด็กทำได้มาเป็นตัวชี้วัด ก็จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาร่วมกับเพื่อนๆ ได้
นอกจากนี้ยังใช้การออกแบบ “แผนการจัดการเรียนรู้” หรือ “กระบวนการเรียนการสอน” ที่เรียกว่า UDL หรือ Universal Design for learning ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่สามารถนำไปใช้สอนกับเด็กปกติและเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ให้สามารถเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องเดียวกันได้พร้อมๆ กัน ในทุกกลุ่มสาระวิชา จนทำให้เด็กพิเศษกว่า 24 คน ในโรงเรียนแห่งนี้สามารถเรียนหนังสือและใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนๆ ได้อย่างมีความสุขโดยไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง
นางจันเพ็ง รัตนกุล เล่าว่าลูกชายมีพัฒนาการช้ากว่าเพื่อนตั้งแต่อายุ 3 ขวบ แต่ก็เป็นเด็กที่พูดรู้เรื่องทุกอย่าง เพียงแค่มีปัญหาความจำสั้นและลืมง่าย ทำให้มีปัญหาในการเรียนแทบทุกวิชา
“ที่โรงเรียนนี้คุณครูจะช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด โดยไม่มีการแบ่งแยก ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองนั้นมีความแตกต่างไปจากคนอื่น พัฒนาการในด้านต่างๆ ก็ดีขึ้นมาก ซึ่งไม่ได้คาดหวังอะไรกับลูกมากมาย แค่ขอให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขก็พอ” นางจันเพ็งกล่าว
นางตุ้มทอง แก่นแก้ว เล่าว่าตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนชั้นประถมลูกสาวก็มีปัญหาด้านการเรียน เขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก คิดเลขที่ซับซ้อนไม่ได้
“แต่เมื่อย้ายมาเข้าที่โรงเรียนนี้ลูกก็ดีขึ้นในทุกๆ เรื่อง จากที่ทำอะไรไม่ได้เลยก็ทำได้ดีขึ้น โดยคุณครูก็จะเชิญให้มาอบรมให้ความรู้ในเรื่องของการดูแลช่วยเหลือลูกเมื่ออยู่ที่บ้าน” นางตุ้มทองกล่าว
ด.ญ.พรสุดา มิทะ หรือ “น้องอ้อน” นักเรียนชั้น ม.1 เล่าว่าในชั้นเรียนมีเพื่อนที่มีปัญหาในด้านเรียนรู้อยู่ 1 คน แต่ทุกคนในห้องก็ไม่มองว่าเป็นภาระและยินดีที่จะช่วยเหลือ ด้วยการช่วยทบทวนจากสิ่งที่คุณครูสอน และช่วยในการทำการบ้าน โดยคุณครูเองก็จะลงไปช่วยดูแลแบบตัวต่อตัวกับเพื่อนคนนี้อีกครั้งหลังจากอธิบายหน้าชั้นเรียนเสร็จ
“ถ้าเราไม่ช่วยเขาก็จะเรียนไม่ทัน อย่างวิชาคณิตศาสตร์ถ้าเขาไม่เข้าใจเราก็ให้เขาเอามือของเขากับมือของเราขึ้นมานับพร้อมกัน แต่เพื่อนคนนี้เขาก็เก่งกว่าเพื่อนหลายคนในด้านอื่นๆ เช่นสามารถวาดรูปได้สวยกว่า แต่เขามักจะไม่ค่อยพูด เพื่อนๆ จึงต้องเข้าไปชวนคุยบ่อยๆ” น้องอ้อนกล่าว
โดยแรงกายและแรงใจทั้งหมดที่ทุ่มเททำงานเพื่อเด็กบกพร่องทางการเรียนรู้ “ครูพิณทิพย์” ตั้งเป้าหมายว่าให้เกิดระบบการดูแลเด็กพิเศษกลุ่มนี้ขึ้นอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่โรงเรียนหนองบ่อสามัคคีวิทยา เท่านั้นและหมายรวมไปถึงโรงเรียนทุกแห่งในจังหวัดอุบลราชธานี รวมไปถึงประเทศไทย
“โครงการนี้เรามุ่งเน้นที่การพัฒนาศักยภาพเด็ก นั่นหมายถึงเราต้องพยายามดึงในศักยภาพ 3 ด้านของเด็ก คือหนึ่งศักยภาพทางด้านการเรียน เขาสามารถเรียนได้อย่างเต็มความภาคภูมิ สองเรื่องความสามารถเฉพาะทาง ถึงแม้ว่าเขาไม่เก่งทางด้านคิดคำนวณแต่เขาอาจจะเก่งทางด้านศิลปะเราก็จะส่งเสริมทางด้านศิลปะ โดยเราจะเติมเต็มความบกพร่องของเด็ก ให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพของตนเองแทนปมด้อยซึ่งเขาเคยมีและเคยเป็น ประการสุดท้าย คืออยากจะให้เขามีอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข” ครูพิณทิพย์กล่าวสรุป.