กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
กรุงเทพธุรกิจ-ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจ CEO Sentiment Index เดือน ต.ค.-พ.ย.พบว่าผู้บริหารกังวลต่อสถานการณ์การเมือง ส่งผลให้ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจร่วงหนัก
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPURC) สำรวจความเห็นของผู้บริหารบริษัทจำนวน 429 คน ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม — 5 พฤศจิกายน 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจและธุรกิจ พบว่าดัชนีทางเศรษฐกิจในเดือนตุลาคมเท่ากับ -16 ซึ่งต่ำสุดในรอบปี และยังเป็นระดับที่ลดลงจากเดือนกันยายนถึง -9 สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจ ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายน คาดการณ์ว่าดัชนีจะมีค่า -15 ทั้งนี้การที่ดัชนีมีค่าติดลบสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของผู้บริหารต่อปัญหาด้านการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 กลายเป็นสภาวะชะงักงันและถดถอยของเศรษฐกิจ
การเมืองปัจจัยหลักกระทบธุรกิจ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุด 5 อันดับแรกที่ผู้บริหารเห็นว่า มีผลต่อการทำธุรกิจในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน คือ การเมืองภายในประเทศ 4.7 คะแนน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ 4.5 คะแนน ความต้องการของตลาดที่ลดลง 4.2 คะแนน ต้นทุนวัตถุดิบและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 4.0 คะแนนเท่ากัน
ดัชนีรายได้ติดลบต่อเนื่อง
ด้านดัชนีการทำธุรกิจซึ่งมี 4 ด้านด้วยกัน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านสภาพคล่อง และดัชนีด้านการจ้างงานนั้น เมื่อพิจารณาถึงดัชนีด้านรายได้ในเดือนตุลาคม พบว่ามีค่าเป็น -17 และคาดว่าจะปรับลดลงเป็น -20 ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีด้านต้นทุนปรับลดจากเดิมมาอยู่ที่ระดับ 43 จุด และคาดว่าจะปรับลดลงอีกเป็น 35 จุดในเดือนพฤศจิกายน แต่การที่ดัชนียังมีค่าเป็นบวกแสดงว่าต้นทุนยังมีการเพิ่มขึ้น
ทิศทางที่ลดลงของรายได้และการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องยังคงมีค่าติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยมีค่า -10 และคาดว่าจะลดลงเป็น -14 ในเดือนพฤศจิกายน ดัชนีการจ้างงานในเดือนตุลาคมมีค่า -3 จุดเท่ากับเดือนก่อนหน้าและคาดว่าจะปรับขึ้นเป็น -2 จุดในเดือนต่อไป
จากผลสำรวจเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนจะเห็นได้ว่า สถานการณ์การเมืองเป็นเรื่องหลักที่ผู้บริหารมีความกังวลและต้องเฝ้าประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องว่า การผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของรัฐบาลจนนำสู่การชุมนุมของภาคประชาชนจะยืดเยื้อไปถึงเมื่อไร ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยและความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างประเทศ ทั้งมุมมองด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองและความน่าเชื่อถือในอำนาจนิติบัญญัติของไทย รวมถึงยังมีผลกระทบต่อรายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในฤดูท่องเที่ยวปลายปีนี้อีกด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยยังไม่เห็นสัญญาณที่ดีขึ้นแม้จะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องมีการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค