กรุงเทพฯ--14 พ.ย.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
- รายงานสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดล่าสุดพยากรณ์ว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีส่วนแบ่งจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นเป็น 63% ภายในปี 2030
- 70% การเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากปัจจุบันจนถึงปี 2030 จะมาจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
เมื่อสามปีก่อนรายงาน “ซุปเปอร์ไซเคิล” หรือ “วัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่” ของทีมวิจัยเศรษฐกิจธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดระบุว่า โลกกำลังอยู่ใน “วัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่” เทียบเคียงได้กับช่วงปี ค.ศ. 1870 - 1913 และ 1946 - 73 ซึ่งมีการพัฒนาเศรษฐกิจโลกอย่างรวดเร็วผิดปกติ
วันนี้เรายังยืนตามความเห็นดังกล่าว เศรษฐกิจขาขึ้นรอบใหญ่ของโลกโดยรวมส่วนใหญ่แล้วยังไม่ได้รับผลกระทบและเราคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในระดับเฉลี่ย 3.5% ในช่วงปี 2000 - 2030 ซึ่งอยู่เหนืออัตราการเติบโตที่ 3.0% เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ โดยมีแรงหนุนจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของทศวรรษนี้ เราคาดว่าจีนจะเป็นนำหน้าการปฏิรูป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราเฉลี่ย 7% ระหว่างปี 2013 - 2020 และจากการปรับสมดุลโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่ จะทำให้การเติบโตยั่งยืนที่ระดับ 5.3% ระหว่างปี 2021 - 2030
ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคเอเชีย แอฟริกาและอเมริกากลางอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากจำนวนประชาการที่เพิ่มขึ้น ชนชั้นกลางที่ขยายตัวขึ้นและการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนแบ่งจีดีพีของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะเพิ่มขึ้นไปเป็น 63% ของจีดีพีโลกภายในปี 2030 จาก ระดับ 38% ในปัจจุบัน ขนาดที่เพิ่มขึ้นของประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเหล่านี้คือปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ครั้งนี้
ในเวลาเดียวกัน การค้าโลกจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าของปัจจุบัน ไปอยู่ที่ระดับ 75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐโดยมีแรงหนุนจากข้อตกลงการค้าระหว่างภูมิภาคและข้อตกลงการค้าทวิภาคี ตลอดจนผลกระทบของโลกาภิวัฒน์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น
ในรายงานเมื่อปี 2010 ของเรา ได้ให้นิยามคำว่า “ซุปเปอร์ไซเคิล” “หมายถึงช่วงเวลาการเติบในระดับโลกที่สูงอย่างเป็นประวัติการณ์นานเท่ากับชั่วอายุคน หรือมากกว่านั้น โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการเปิดตลาดใหม่ การค้าที่เพิ่มขึ้นและอัตราการลงทุนสูงการพัฒนาไปสู่ความเป็นเมืองและนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยี”
แม้จะมีข้อสงสัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และความรุนแรงของวิกฤตยูโรโซน รายงานใหม่ล่าสุดของเราชี้ว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจในระดับพอประมาณจะช่วยกระตุ้นการเติบโตให้ฟื้นขึ้นได้ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่หลายแห่ง รวมทั้งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรียและบราซิล
ขนาดความเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่คือปัจจัยหลักในการเอื้อให้เกิดแรงส่งที่มีผลต่อการเติบโตของโลก ตัวอย่างเช่นประเทศที่มีอัตราการเติบโตเกิน 4% ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ปัจจุบัน รวมกันแล้วเท่ากับ 37% ของจีดีพีโลก เพิ่มขึ้น 20% จากปี 1989 ส่วนแบ่งจีดีพีของประเทศเหล่านี้จะขึ้นไปถึง 56% ภายในปี 2030 ตามการพยากรณ์ที่ปรับล่าสุด การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเป็น 2 ใน 5 ของจีดีพีโลกภายในปี 2030
รายงานเศรษฐกิจล่าสุดจองเรายังคาดการณ์ว่า
- 70% การเติบโตของเศรษฐกิจโลก จากปัจจุบันจนถึงปี 2030 จะมาจากกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่
- จีนจะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2022 (ต่างจากเดิมที่พยากรณ์ไว้ที่ปี 2020) ล้ำหน้าเศรษฐกิจสหรัฐ แต่รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรยังคงน้อยกว่าสหรัฐ 1 ใน 3 ชี้ให้เห็นว่ายังมีช่องให้การเติบโตได้มากขึ้น
- การค้าระหว่างประเทศในแถบซีกโลกใต้ (หรือการค้าระหว่างกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่) มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ของการค้าโลกในปี 2030 เพิ่มขึ้น 18% จากปัจจุบัน
- ส่วนใหญ่ของประชากร 1,100 ล้านคนที่เพิ่มขึ้นภายในปี 2030 จะอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยมีประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแอฟริกาเป็นตัวนำ ผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตทางการเงินปี 2008 - 09 ตามประมาณการที่ปรับใหม่นี้ เศรษฐกิจสหรัฐจะมีแรงส่งในการฟื้นตัวได้แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยภาคเอกชนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวกลับมาแข็งแกร่ง คาดว่าประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลกจะเติบโตที่อัตราเฉลี่ย 2.8% จากปี 2013 - 2020 และที่ 2.5% ในทศวรรษหลังจากนั้น
มร. จอห์น คัลเวอร์ลีย์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาคระดับโลกของกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า “ในช่วงที่ผ่านมามีการมองโลกในแง่ ร้ายมากเกินไปเกี่ยวกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีความกังวลกันมากเกินเหตุในเรื่องกับดักรายได้ปานกลาง การก่อหนี้สินเกินตัวของเอเชีย รูปแบบการเติบโตที่ ‘ขาดตอน’ และอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่เพิ่มขึ้น ขณะที่เราลดระดับการพยากรณ์สำหรับการเติบโตในระยะยาวของจีน อินเดีย และยุโรป แต่ในกรณีของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่ ยังคงเหมือนเดิม การปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จจะมีความสำคัญอย่่างยิ่งต่อประเทศเหล่านี้ในการทำให้ศักยภาพที่จะไล่ตามได้ทันกลายเป็นจริงขึ้นมา”