กรมการขนส่งจัดโครงการ "รถเมืองไทย ไร้มลพิษ"

ข่าวทั่วไป Tuesday September 23, 1997 19:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--23 ก.ย.--กรมการขนส่งทางบก
ท่ามกลางความเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและตามเมืองใหญ่ ๆ ทั่วประเทศ การคมนาคมขนส่งต่างก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นไปเป็นเงาตามตัว ในแต่ละปี ยานพาหนะบนท้องถนนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่สอดคล้องกับพื้นที่การจราจรที่มีอยู่จำนวนจำกัดก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งทำให้มลพิษในอากาศสะสมเพิ่มมากขึ้น เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ไฮโดรคาร์บอน (HC) ออกไซด์ของไนโตรเจน (No) สารตะกั่ว ควันดำ และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particle Matter:PM) ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคภูมิแพ้ต่าง ๆ
จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พบว่าปัญหามลพิษหลักที่ตรวจพบในเขตกรุงเทพมหานครในปี 2536-2537 ได้แก่ ปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะในรูปควันดำหรือเขม่าควัน ที่มีแหล่งกำเนินสำคัญมาจากยานพาหนะบนท้องถนน จากตัวเลขของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณริมถนนแบบชั่วคราวของกรมควบคุมมลพิษ ทั้ง 18 แห่ง ปรากฎว่าอากาศเป็นพิษมีค่าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ที่ 330 ไมโครกรัมต่อลูกบากศก์เมตรใน 24 ชั่วโมง เช่น ประตูน้ำ ถ.ราชปรารถ สะพานควาย ถ.พหลโยธิน และ กรมตำรวจ ถ.พระรามที่ 1 เป็นต้น
ปัญหามลพิษทางอากาศดูจะทวีความรุนแรงมากขึ้นไปตามจำนวนของยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากสถิติของกรมการขนส่งทางบกระหว่างปี 2534-2539 ปรากฎว่า จำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 13.68 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะในปี 2539 มีการจดทะเบียนรถแยกตามประเภททั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้นกว่า 16.1 ล้านคัน คิดเป็น 89.76 เปอร์เซนต์ ของสถิติในปี 2534 ซึ่งมีอัตราเพิ่มเพียง 8.5 ล้านค้น ในเขตกรุงเทพมหานครฯ จำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2539 มีจำนวนมากถึงกว่า 3.5 ล้านคัน คิดเป็น 68 เปอร์เซนต์ ของสถิติในปี 2534 ที่มีรถยนต์จดทะเบียนประมาณ 2.1 ล้านคัน
จากสถิติ ดังกล่าวประเภทของยานพาหนะที่มีการจดทะเบียนมากที่สุดในกรุงเทพมหานครได้แก่ รถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 8.9 แสนคัน ในปี 2534 เป็นกว่า 1.6 ล้านคัน ในปี 2539 คิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณ 72.19 เปอร์เซ็นต์ และยังคงมีการจดทะเบียนเพิ่มมากขึ้น เรื่อย ๆ โดยเฉลี่ยประมาณวันละ 800 คัน รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คัน มีอัตราการเพิ่มเป็นอันดับ 2 กล่าวคือ ในปี 2534 มีจำนวนประมาณ 6 แสนคัน ในขณะที่ในปี 2539 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 1.03 ล้านคัน คิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณ 72.74 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรถจักรยานยนต์และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมทั้งรถทุกประเภทนั้น จะปล่อยก๊าซพิษที่เป็นอัตรายและต้องควบคุม ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซค์ (Co) ไฮโดรคาร์บอน (HC) และ ออกไซด์ของไนโตรเจน (NO)
ก๊าซและควันพิษเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่บั่นทอนสุขภาพ และเป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยและสัญจรอยู่ตามเมืองใหญ่ ๆ ตลอดมา ก๊าซพิษแต่ละชนิดอาจจะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยในลักษณะแตกต่างกัน เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งไม่มีสีและกลิ่น เมื่อสูดดมเข้าไปเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง จะเกิดอาการมึนงงหงุดหงิด ง่วงนอน เวียนศรีษะ อาเจียร หมดสติ และอาจถึงตายได้ ในขณะที่ก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) จะก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง ออกไซด์ของไนโตรเจน (NO) ก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ อาการหืดหอบ และสารตะกั่วที่ผสมอยู่ในน้ำมันเบนซิน เป็นอันตรายต่อระบบสมองและประสาทส่วนปลาย ระบบเลือด ระบบไต และระบบสืบพันธ์เมื่อสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะมีอาการปวดศรีษะเรื้อรัง ลืมง่าย หงุดหงิด โลหิตจาง อ่อนเพลีย ไตวาย มีบุตรยาก ประจำเดือนผิดปกติ และในเด็กเล็กจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย จิตใจ และ เชาว์ปัญญา
นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากควันดำ ซึ่งเกิดจากผงเขม่าเล็ก ๆ ที่เเหลือจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากเครื่องยนต์ดีเซล เช่น รถเมล์ รถปิ๊กอัพดีเซล และรถขนาดใหญ่ทั่วไป โดยจะยิ่งมีปริมาณมากขึ้นในเครื่องยนต์ที่มีการปรับแต่งระบบน้ำมันไม่เหมาะสม ไส้กรอง อากาศอุดตัน การบรรทุกเกินอัตราที่กำหนด การเร่งเครื่องยนต์อย่างรุนแรงในทันทีทันใด และจากเครื่องยนต์ที่มีเครื่องหลวม ซึ่งเป็นตัวนำสารที่ทำให้เกิดมะเร็งในปอดได้ด้วย รวมทั้งควันขาวที่มักเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันหล่อลื่นที่ผสมอยู่กับน้ำมันเบนซินของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ 2 จังหวะ ซึ่งจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบการเดินหายใจ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
การลดมลพิษทางอากาศจากท่อไอเสียรถยนต์สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องยนต์ ที่ใช้ด้วย เช่น รถยนต์เบนซิน สามารถลดสารพิษได้โดยการใช้เครื่องยนต์ที่มีระบบการควบคุมส่วนผสมของน้ำมันกับอากาศโดยใช้หัวฉีด (Electronic Fuel Injection: EFI ซึ่งจะทำให้มีการผสมน้ำมันกับอากาศในอัตราส่วนที่พอดี (Stoichiometric Air/Fuel Ratio) ระบบนี้ต้องใช้ควบคู่ไปกับ Catalytic Converter และมีการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนด สำหรับรถยนต์ดีเซลที่อยู่สภาพดีจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรคาร์บอนในปริมาณต่ำ แม้ว่าจะไม่ติด Catalytic Converter ก็ตาม แต่จะมีปัญหาเรื่องควันดำและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM) ซึ่งสามารถควบคุมได้โดยการใช้เครื่องยนต์ที่มีการเผาไหม้ดี และต้องใช้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพสูงและมีปริมาณกำมะถัน (Sulfur) ต่ำและต้องซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตกำหนดไว้อีกด้วย
กรมการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญในการควบคุมป้องกันและลดมลพิษจากยานพาหนะได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ลดมลพิษในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้น ทั้งประเภทระยะสั้นและระยะยาว เช่น การออกประกาศควบคุมมลพิษให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยควบคุมให้รถทุกคันต้องมีมาตรฐานไอเสีย เช่น รถยนต์ดีเซล สามารถมีควันดำได้ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จากการวัดด้วยระบบกระดาษกรองหรือระบบนอซ (Bosch) รถยนต์เบนซินมีคาร์บอนมอน็อกไซด์ได้ไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์ และ รถจักรยานยนต์มีคาร์บอนน๊อกไซด์ได้ไม่เกิน 4.5 เปอร์เซ็นต์ และไฮโดรเจนออกไซด์ได้ไม่เกิน 10,000 ppm นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการในการตรวจสภาพรถ โดยรถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ต้องตรวจสภาพก่อนการชำระภาษีปีละ 1 ครั้ง รถที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะมีการตรวจสภาพสำหรับรถสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ปีละ 2 ครั้ง รถรับจ้างอื่น ๆ ปีละ 1 ครั้ง และรถที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคาร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา เฉพาะรถเก๋ง, รถตู้ รถปิ๊กอัพ ที่มีอายุการจดทะเบียนครบ 7 ปี และรถจักรยานยนต์ที่มีอายุการจดทะเบียนครบ 5 ปี ต้องตรวจสภาพกับสถานตรวจสภาพรถเอกชนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในอนาคตมีโครงการที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัด
และล่าสุด กรมการขนส่งทางบก ได้ริเริ่มโครงการ "รถเมืองไทย ไร้มลพิษ" นั้น โดยจะเริ่มรณรงค์ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2540 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้มีความรู้เรื่องมลพิษจากรถยนต์ และการบำรุงรักษารถแก่ผู้ขับและเจ้าของรถ โดยจัดให้มีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การสัมมนาและการจัดนิทรรศการตามห้างสรรพสินค้า เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและการป้องกันมลพิษจากรถยนต์ ตลอดจนการแนะนำการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อให้ใช้งานได้นาน ๆ และลดปัญหามลพิษทางอากาศ โดยทางกรมฯ จะประชาสัมพันธ์กิจกรรมพิเศษเหล่านี้ให้ประชาชนได้ทราบเป็นระยะ ๆ
ปัจจุบัน เราไม่อาจเพิกเฉยต่อปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมได้อีกต่อไป ทุกวินาทีที่เราสูดอากาศที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์เข้าสู่ปอด นั่นหมายถึงสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจที่กำลังถูกบั่นทอนลงทุกขณะปัญหามลพิษทางอากาศมิใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นปัญหาที่ประชาชนทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข เพราะอากาศที่กลายเป็นมลพิษนั้นล้วนเป็นฝีมือของพวกเราทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราในฐานะประชาชนชาวไทยที่ต้องช่วยกันฟอกอากาศรอบ ๆ ตัวให้กลับมาเป็นอากาศบริสุทธิ์เพื่อต่อชีวิตของตัวเราและอนุชนรุ่นหลังต่อไป
"คิดสักนิด ก่อนเป็นตัวการสร้างมลพิษบนท้องถนน" "เพื่อตัวคุณเองและสังคม หมั่นบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้สภาพดีอยู่เสมอ"
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เอ็มดีเค คอนซัลแทนส์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร.254-5152--จบ--

แท็ก คมนาคม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ