กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
ปัจจุบันประเทศไทยมีคนตาบอดกว่า 600,000 คน ทั่วประเทศ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศกว่า 62 ล้านคน แม้จะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่พวกเขาต่างมีสิทธิเท่าเทียมกับคนปกติทุกประการ ในฐานะคนไทยที่อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่อาจเชื่อมโยงโลกของคนตาบอดกับโลกของคนตาดีเข้าด้วยกันและเป็นวิถีแห่งปัญญาความรู้ที่ไม่ว่าใครก็ศึกษาได้ นั่นก็คือ “หนังสือ”
สิ่งสำคัญประการหนึ่งเพื่อพัฒนาคนตาบอดก็คือ การช่วยให้คนตาบอดสามารถช่วยเหลือตนเองได้ และการที่เราจะช่วยให้พวกเขาสามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเองได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป คือ “การศึกษา” การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ ทั้งความรู้ ความคิด สติปัญญา และจริยธรรม เพื่อให้เกิดการเพิ่มพูนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือด้านจิตใจ ปัจจุบันหน่วยงานทั้ง ภาครัฐและเอกชนที่มีพันธกิจช่วยเหลือคนตาบอดต่างหันมาสนใจให้การสนับสนุนทางการศึกษาแก่คนตาบอดมากยิ่งขึ้น อาทิ การมอบอุปกรณ์การเรียนการสอนสำหรับคนตาบอด การมอบหนังสือเบรลล์ เหล่านี้เป็นต้น เช่นเดียวกับ มูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยที่มุ่งมั่นดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนไทยให้ดีขึ้น ดำเนินโครงการ“One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง”ระยะสอง โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำของเมืองไทย ซึ่งมีพันธกิจในแนวทางเดียวกันกับมูลนิธิแอมเวย์ฯ คือ การช่วยเหลือ กลุ่มคนตาบอดให้มีโอกาสรับรู้ข่าวสารเช่นเดียวกับคนปกติในสังคม
นายปรีชา ประกอบกิจ ประธานกรรมการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย เปิดเผยว่า “มูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือกลุ่มคนตาบอดมาโดยตลอด และเห็นว่าพวกเขาควรได้รับโอกาสทางสังคมเท่าเทียมกับคนปกติ โครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” ซึ่งเป็นโครงการผลิตหนังสือเสียงเพื่อคนตาบอด ที่ มูลนิธิได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 ที่ผ่านมา โดยได้จัดทำหนังสือเสียงในรูปแบบแผ่นซีดี และเทปคาสเส็ทท์ อย่างครบวงจร ตั้งแต่รับอาสาสมัคร จัดฝึกอบรมการอ่านหนังสือเสียงอย่างถูกต้อง จัดหาห้องอัดเสียงเพื่อให้อาสาสมัครอ่านบันทึกเสียง และดำเนินการตัดต่อให้เป็นหนังสือเสียงต้นฉบับที่มีคุณภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งแจกจ่ายสำเนาไปยังหน่วยงานที่ดูแลผู้พิการที่มีความต้องการใช้หนังสือเสียงให้ทั่วถึงมากที่สุด ซึ่งผลปรากฎว่า ได้รับเสียงสะท้อนแห่งความพึงพอใจ ความประทับใจ จากกลุ่มคนตาบอด และซาบซึ้งว่า พวกเราไม่ทอดทิ้งเขาให้อยู่ในโลกมืดแต่เพียงลำพัง เห็นความสำคัญและให้โอกาสพวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้โลกกว้างทัดเทียมกับบุคคลอื่นในสังคมนี้ นอกจากนี้ มูลนิธิยังได้ทราบจากผู้เชี่ยวชาญหลายด้านที่ศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มคนตาบอดเหล่านี้ว่า หากพวกเขาได้รับการพัฒนาที่ดีก็จะสามารถเป็นขุมพลังอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ โครงการ โครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” ในระยะแรกได้รับร่วมมืออย่างดีจากทุกส่วนของสังคม และสำหรับโครงการในระยะต่อเนื่องก็ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาเอกชนชั้นนำอย่าง มหาวิทยาลัยศรีปทุมที่มีเป้าหมายเดียวกับมูลนิธิในการช่วยเหลือกลุ่มคนตาบอดและมีวัตถุประสงค์ในการสรรค์สร้างสังคมไปในทิศทางเดียวกัน
ดร.อภิรดี อำนรรฆมณี ผู้อำนวยการศูนย์มีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการฯ ครั้งนี้ว่า “ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่าโครงการ “One by One: หนึ่งเสียงเปิดโลกกว้าง” เป็นโครงการที่ดี มีวัตถุประสงค์ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งตรงกับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย คือ นอกจากการจัดการเรียนการสอนแล้ว ยังมีการบริการทางวิชาการเพื่อสังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรม และงานวิจัย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อสังคมมาโดยตลอด ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทยในโครงการดังกล่าว โดยได้ให้การสนับสนุนเรื่องห้องบันทึกเสียง ให้ใช้ห้องบันทึกเสียงของศูนย์มีเดีย ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ได้หนังสือเสียงที่มีคุณภาพสำหรับคนตาบอด “สำหรับเป้าหมายของความร่วมมือในครั้งนี้ คือ การที่เราได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม ก่อนหน้านี้ เมื่อเราเห็นคนตาบอดเราเคยคิดว่าเราทำอะไรเพื่อเขาน้อยไปหรือเปล่า ทั้งที่คนเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นเมื่อมีโอกาส เราจึงต้องร่วมกันผลักดัน คำนึงถึงเพื่อนร่วมสังคมของเราให้มันออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น และในโอกาสต่อไปมหาวิทยาลัยก็ยินดีที่จะสนับสนุนโครงการฯ โดยอาจส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในการอ่านหนังสือเสียงด้วย และเจ้าหน้าที่ทุกคนก็ยินดีที่จะสละเวลาในการทำประโยชน์เพื่อสังคมเช่นกัน”
นายปรีชา ประกอบกิจ ประธานกรรมการมูลนิธิแอมเวย์เพื่อสังคมไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า “ได้เริ่มดำเนินโครงการ One by One : หนึ่งเสียง เปิดโลกกว้าง เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ในระยะแรกสามารถบันทึกเสียงได้จำนวน 20 เรื่อง และจัดทำสำเนาหนังสือเสียงในรูปแบบแผ่นซีดีและเทปคาสเส็ทท์ รวมจำรวน 27,000 ชิ้นงาน ส่งมอบให้กับหน่วยงานหลักที่บริการคนตาบอดทั่วประเทศรวม 6 หน่วยงาน มีเครือข่ายกว่า 100 แห่ง ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสำนักพิมพ์ต่างๆ และนักเขียนชื่อดังเข้าร่วมโครงการ
ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมครั้งนี้เป็นการดำเนินโครงการ ระยะที่สอง ซึ่งสามารถผลิตหนังสือเสียงได้จำนวน 22 เรื่อง จัดทำสำเนาหนังสือเสียงในรูปแบบแผ่นซีดีและเทปคาสเซ็ท รวมจำรวมกว่า 30,000 ชิ้นงาน ทำการแจกจ่ายโดยตรงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคนตาบอดทั่วประเทศจำนวน 103 หน่วยงาน โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) สนับสนุนดีเจร่วมอ่านหนังสือเสียง 2 ท่าน คือ ดีเจ อั๋น-ภูวนาท คุนผลิน และดีเจอ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล บริษัท อมรินทร์- พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), บริษัท กันตนา พับลิชชิ่ง จำกัด, บริษัท เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, สำนักพิมพ์มติชน, สำนักพิมพ์สามสี, บริษัท เดอะ บุ๊คส์ เลิฟเวอร์ จำกัด และบริษัท บริดจ์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด อนุญาตให้นำหนังสือภายใต้ลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์มาผลิตเป็นหนังสือเสียง
นับเป็นการรวมพลังของหน่วยงานภาคเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการทำประโยชน์เพื่อสังคมนำศักยภาพของตนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมสังคม ซึ่งทุกคนตระหนักดีว่าเสียงของตนเพียงหนึ่งเสียงก็สามารถเปิดโลกกว้างให้กับคนอื่นๆอีกนับร้อยนับพันคน แม้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่ากัน แต่บางคนอาจขาดโอกาส เราในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ที่สามารถผลักดันให้เกิดโอกาสใหม่อันเท่าเทียมสำหรับทุกคนได้ เราจึงควรร่วมกันคนละไม้คนละมือ เพื่อเปิดโอกาสอันสดใสให้กว้างไกลสำหรับทุกคน
“คนตาบอดต้องการมีการศึกษาเหมือนคนปกติทั่วไป เราจึงควรสนับสนุนและมอบโอกาสให้เขาได้มีความรู้ เพื่อเขาจะได้นำความรู้ไปใช้ในการทำงาน การดำรงชีวิต โดยไม่เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม”
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทร. 0 2691 6302-4 หรือ 0 2274 4782
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--