กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--โฟร์ พี แอดส์
วันนี้(14 พฤศจิกายน 2556)ที่ห้องประชุมใหญ่ชั้น 7 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย พร้อมด้วยนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าว “การจัดงานเทียนส่องใจ เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวาคม 2556” เพื่อร่วมสร้างโอกาสให้ผู้ป่วยโรคเอดส์หรือผู้ติดเชื้อได้เข้าถึงบริการป้องกันและการดูแลรักษาให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น มุ่งสู่เป้าหมายที่เป็นศูนย์ ภายใต้แนวคิด “ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ” สอดคล้องกับประเด็นรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลกปี 2556 ที่ว่า “Getting to Zero” หรือ “เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้”
ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์เอดส์โลกในปัจจุบันว่า เอดส์ยังคงเป็นปัญหาและเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและประเทศไทย จากการรายงานของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) คาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก 35.3 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2555เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 2.3 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ประมาณ 1.6 ล้านคน ลดลงจากปี พ.ศ. 2548 ร้อยละ 30 เนื่องจากผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์เอดส์ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2556 คาดประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์สะสมประมาณ 1,166,543 คน ยังมีชีวิตอยู่ 447,640 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,959 คน ประมาณร้อยละ 62 เป็นการติดเชื้อฯในกลุ่มชายรักชาย กลุ่มพนักงานบริการหญิง และกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด ผู้ป่วยเอดส์ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30 — 34 ปี อาชีพรับจ้างทั่วไป สาเหตุของการติดเชื้ออันดับหนึ่งร้อยละ 84.26 จากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน รองลงมาร้อยละ 4.36 จากการใช้สารเสพติดชนิดฉีด และร้อยละ 3.53 ติดเชื้อจากมารดา
“แม้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ในปัจจุบันจะก้าวหน้าไปมาก ทำให้ผู้ติดเชื้อฯมีสุขภาพที่แข็งแรงมีชีวิตยืนยาวได้ แต่ยังคงมีผู้ติดเชื้อฯ อีกจำนวนหนึ่ง ที่ยังเข้าไม่ถึงบริการป้องกันและการดูแลรักษาฯ ด้วยเหตุผลสำคัญคือผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเอดส์ไม่ได้รับการยอมรับ ถูกตีตรา และการเลือกปฏิบัติจากสังคม จึงไม่กล้าเปิดเผยตัว ไม่กล้าบอกว่าตนเองมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่าผู้ติดเชื้อฯไม่แข็งแรง หรือผู้ติดเชื้อคือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม รวมไปถึงความเข้าใจผิดว่าเอดส์สามารถติดต่อกันได้ง่ายๆ จากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน”
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเพื่อให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงการดูแลเพื่อป้องกันและรักษาการติดเชื้อเอชไอวีอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและมีคุณภาพ ในระบบหลักประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุนคือกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมในการผลักดันและสนับสนุนมาตรการและดำเนินงานในด้านต่างๆทั้งการป้องกันและดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ครบถ้วนตั้งแต่การได้รับความรู้ การเข้าถึงบริการปรึกษาและตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไปจนถึงการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบส่งต่อ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อฯสามารถเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการที่ผู้ติดเชื้อฯได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยลดการติดเชื้อฯในคู่ลงได้ถึงร้อยละ 96 และยังสนับสนุนให้มีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอในรายที่ตรวจไม่พบเชื้อฯ เพื่อเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่าวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปีองค์การอนามัยโลก (WHO) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กำหนดให้เป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) โดยในปีนี้ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์คือ “Getting to Zero” หรือ “เอดส์ลดให้เหลือศูนย์ได้” เพื่อให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันรณรงค์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์
สำหรับประเทศไทยการรณรงค์เนื่องในวันเอดส์โลกปี พ.ศ.2556 นี้กรมควบคุมโรคและภาคีเครือข่ายภาคที่เกี่ยวข้องได้นำยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติ พ.ศ. 2555—2559 มาสู่การปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่มุ่งสู่ความเป็นศูนย์ ภายใต้แนวคิด 3 ต.คือ “ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ และไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ” กล่าวคือภายในปี 2559 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ต้องลดลง 2 ใน 3 อัตราการติดเชื้อทารกแรกคลอดน้อยกว่าร้อยละ2 ผู้ติดเชื้อฯได้เข้าถึงการดูแลรักษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม เสียชีวิตลดลงมากกว่าร้อยละ50 และเสียชีวิตเนื่องจากวัณโรคลดลงมากกว่าร้อยละ50 กฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการป้องกันดูแลรักษาพยาบาลได้รับการแก้ไข ผู้ติดเชื้อและกลุ่มประชากรเป้าหมายหลักถูกเลือกปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ50 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวก็เหมือนการร่วมกันจุดเทียนเพื่อสร้างแสงสว่างในใจให้กับผู้ป่วยโรคเอดส์หรือผู้ติดเชื้อให้ได้รับรู้ถึงความหวังและโอกาสในการเข้าถึงบริการป้องกันและการดูแลรักษาให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ”งานเทียนส่องใจเนื่องในวันเอดส์โลกวันที่ 1 ธันวาคม2556” นั่นเอง นพ.สมศักดิ์กล่าวปิดท้าย