กรุงเทพฯ--15 พ.ย.--C.P. Intertrade
หนึ่งในปัญหาที่ภาคเกษตรกรรมของไทยต้องเผชิญตลอดมา ก็คือ การตลาด ซึ่งเป็นปัญหาที่ยากจะแก้ให้ตก ในขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมการเกษตรเองก็ต้องประสบกับปัญหาความไม่คงที่ของผลผลิต ทั้งในด้านของปริมาณ ซึ่งไม่คงที่และด้านของคุณภาพ ที่ไม่แน่นอน
บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด (หรือข้าวตราฉัตร) ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ ปี 2556/57 ขึ้น ในพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคอีสานซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของประเทศขึ้น โดยตั้งใจจะให้เป็นโครงการความร่วมมือที่สามารถสร้างความยั่งยืนร่วมกันระหว่าง ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ และ บริษัทฯ ในฐานะผู้ค้าข้าวรายใหญ่ของประเทศ
คุณสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ (รับผิดชอบธุรกิจข้าวและอาหาร) เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยถึงความเป็นมาของโครงการฯ นำร่อง ในครั้งนี้ว่า “ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารตราฉัตร บริษัทฯ ก็ต้องการที่จะมีแหล่งผลิตข้าวที่มั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบ เพราะบริษัทฯ จำเป็นต้องรักษามาตรฐานของข้าวตราฉัตร ขณะเดียวกันก็ตระหนักถึงปัญหาด้านการตลาดของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว บริษัทฯ จึงมีแนวคิดที่จะรวมเอาจุดเด่นของเกษตรและความชำนาญของบริษัทฯ เข้าด้วยกัน นับเป็นการทำธุรกิจที่เกื้อกูลกัน โดยมีเป้าหมายที่ความยั่งยืน”
คุณสุเมธฯ ให้เหตุผลถึงโครงการฯ ที่เลือกพื้นที่นำร่อง ในพื้นที่ 4 อำเภอของ 4 จังหวัดซึ่งประกอบด้วย อำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ และอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ว่า
“พื้นที่ ที่เราเข้าไปส่งเสริม ทั้ง 4 อำเภอ ใน 4 จังหวัดนี้ เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ได้คุณภาพดี แต่เกษตรกรยังขาดความมั่นใจในการทำตลาด ต้องขึ้นอยู่กับกลไกของตลาด ต้องอาศัยภาวะตลาดเป็นหลัก การที่ทางบริษัทฯ เข้าไปส่งเสริมเกษตรกร และรับซื้อวัตถุดิบที่เป็นข้าวเปลือกจากเกษตรกรตามเงื่อนไขการรับจำนำข้าวของรัฐบาลซึ่งสูงกว่าราคาตลาดจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจมากขึ้น เพราะรู้ว่า มีตลาดรองรับผลผลิตที่แน่นอน และเพื่อให้เกิดความยั่งยืน บริษัทฯ จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมให้มีการปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์ของข้าวแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันก็จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับเกษตรกร ผู้ร่วมโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง อันจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในตลาดมากยิ่งขึ้น”
ในโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิฯ นี้ บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด ได้จัดทีมงานลงพื้นที่ เพื่อให้คำแนะนำในการปลูกข้าวกับเกษตรกรผู้ร่วมโครงการ โดยคุณสุเมธฯ กล่าวถึงบทบาทของทีมงานผู้ชำนาญการว่า
“บริษัทฯ มีทีมงานวิชาการ ที่จะเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิด้วยการให้คำแนะนำกับเกษตรกร เริ่มตั้งแต่การใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพจากกรมการข้าว โดยบริษัทฯ จะเข้าไปให้คำแนะนำถึงผลดีที่จะได้จากการเปลี่ยนมาใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ มีนักวิชาการให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยว่าควรจะใช้สูตรไหน ใช้อย่างไร ใช้เวลาไหนจึงจะส่งผลดีที่สุด ซึ่งจากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดี ใช้ปุ๋ยที่ดี รวมถึงการจัดการพื้นนา ให้มีการควบคุมวัชพืช การควบคุมน้ำในแปลงนาให้มีความเหมาะสม จะทำให้ได้ข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพดีขึ้น โดยเราคิดว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ราว 10-20%”
คุณสุเมธฯ กล่าวด้วยว่า “ทุกกระบวนการส่งเสริมฯ ของทางบริษัทฯ สุดท้ายจะสะท้อนไปที่คุณภาพของข้าว อาทิ มีกลิ่นหอม, มีเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดที่สมบูรณ์ ข้าวที่เกษตรกรทั่วไปปลูกจะได้ผลผลิตประมาณ 320-330 กิโลกรัม/ไร่ แต่จากการส่งเสริมของบริษัทฯ คาดว่า จะได้ผลผลิตเพิ่มถึง 380 กิโลกรัม/ไร่ โดยเราจะรับซื้อข้าวเปลือกทั้งหมดจากทุกไร่ของเกษตรกร ที่ร่วมโครงการฯ เพื่อนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุงของบริษัทฯ”
ในส่วนของรายละเอียดการส่งเสริม คุณสุเมธฯ เปิดเผยว่า “ทางบริษัทฯ มีเงื่อนไขกับเกษตรกรว่า บริษัทฯ จะจัดหาเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นแม่พันธุ์จากกรมการข้าวมาให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก ในเรื่องของปุ๋ยบริษัทฯ ก็ได้ประสานกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อให้เครดิตกับเกษตรกรเป็นสินเชื่อเรื่องปุ๋ย เมื่อเกษตรกรจำหน่ายวัตถุดิบให้กับทางบริษัทฯ แล้วเกษตรกรก็ชำระคืนให้กับทาง ธกส. ซึ่งที่ผ่านมาบางทีเกษตรกรอาจจะมีปัญหาเรื่องเงินทุนทำให้ละเลยในเรื่องของการใส่ปุ๋ยทำให้ได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
นอกจากนี้ทางบริษัทฯ ยังให้คำแนะนำกับเกษตรกรในเรื่องของการเก็บเกี่ยวว่า การเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ควรจะเป็นช่วงที่ข้าวอยู่ระยะหลังออกดอก ประมาณ 25-30 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่จะทำให้ได้ผลผลิตข้าวมีเปอร์เซ็นต์ต้นข้าวดี และเมื่อได้ข้าวคุณภาพดี เกษตรกรก็จะสามารถจำหน่ายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น ตรงนี้นับเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกรพอสมควร เพราะส่วนหนึ่งจะแตกต่างจากวิธีที่เคยปฏิบัติกันมา บริษัทฯ เข้าไปให้คำแนะนำในส่วนนี้ก็เพื่อไปจัดระเบียบ ให้ถูกต้องตามลักษณะที่ควรจะปลูกข้าวหอมมะลิ อันจะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนต่อเกษตรกรโดยตรงเพราะนี่คือความรู้ที่ผ่านการค้นคว้าวิจัย และทดลองจนได้ผลมาแล้ว และเกษตรกรสามารถที่จะนำไปใช้ได้ตลอดไป”
สำหรับประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับนั้น คุณสุเมธฯ กล่าวว่า “โดยข้อเท็จจริงแล้วข้าวหอมมะลิในประเทศไทยมีเยอะ แต่ว่าข้าวหอมมะลิแต่ละแหล่งก็มีคุณลักษณะ และคุณภาพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่บริษัทฯ เข้าไปส่งเสริมทั้ง 4 แห่ง เป็นแหล่งที่ผลิตข้าวหอมมะลิได้คุณภาพที่ดี ผู้บริโภคจึงได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพดี นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังมีระบบการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งผลิตข้าวแต่ละถุง ให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่า ข้าวที่ซื้อไปบริโภคนั้นผลิตจากแปลงจังหวัดไหน อำเภอไหน หรือแปลงนาของเกษตรกรรายใด ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในคุณภาพของข้าวได้ เพราะเรามีเจ้าหน้าที่ติดตามกำกับดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดเตรียมแปลงนา การสีข้าว จนกระทั่งการบรรจุถุง เพื่อส่งถึงมือผู้บริโภค”
คุณสุเมธฯ กล่าว ในตอนท้ายว่า “นี่คือการเกื้อกูลกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทั้ง 3 ฝ่าย คือ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะมีความมั่นคงในอาชีพของตน บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงข้าวตราฉัตร ก็จะมีความมั่นใจในคุณภาพของวัตถุดิบที่ได้รับ ขณะเดียวกันประชาชนผู้บริโภคก็จะมีความมั่นใจในคุณภาพของข้าวที่ซื้อไปบริโภค เพราะรู้กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาชัดเจน รับประกันความปลอดภัยของข้าว ซึ่งเป็นอาหารหลักที่คนไทยนิยมบริโภค ถือเป็นความยั่งยืนที่จะได้รับร่วมกัน”