สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ 11-15 พ.ย. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์นี้ 18-22 พ.ย. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 19, 2013 10:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ล่าสุดที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 107.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 104.88เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 93.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 2.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 114.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และอย่างไรก็ตามน้ำมันดีเซลลดลง 0.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ความไม่สงบในลิเบียทำให้อุปทานปิโตรเลียมตึงตัว จากการประท้วงหลายกลุ่ม อาทิ พนักงานรักษาความปลอดภัยในอุตสาหกรรมน้ำมัน และชนกลุ่มน้อยที่เรียกร้องสิทธิทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดว่าลิเบียผลิตน้ำมันดิบได้ 10% ของกำลังการผลิตที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน - สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรงในอ่าวเปอร์เซีย ทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิรัก จากท่าทางตอนใต้ ลดลงมาอยู่ที่ 880,000 บาร์เรลต่อวัน จากที่สามารถส่งออกในระดับ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ว่าที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve หรือ Fed) คนใหม่ นาง Janet Yellen แถลงต่อวุฒิสภาว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเป็นสิ่งจำเป็น - อุปสงค์น้ำมันของจีนแข็งแกร่ง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานอัตราการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน ต.ค. 56 เพิ่มขึ้น 3.1% จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - สำนักสารสนเทศพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ย. 56 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 8 โดยเพิ่ม 2.6 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 388.1 ล้านบาร์เรล - สำนักตัวแทนพลังงานนานาชาติ (International Energy Agency หรือ IEA) คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย ในปี 2558 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของคูเวตเห็นควรให้คงเพดานการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ไว้เช่นเดิม ที่ระดับ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ OPEC มีกำหนดการประชุมในวันที่ 4 ธ.ค. 56 ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากสถานการณ์ในลิเบียเพิ่มความร้อนแรง เกิดเหตุปะทะระหว่างทหารกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ ที่กรุง Tripoli ในวันศุกร์ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 32 รายและบาดเจ็บกว่า 400 ราย เป็นการปะทะที่รุนแรงที่สุดหลังจากสงครามกลางเมืองในสมัยผู้นำ Gaddafi ประกอบกับนักลงทุนมั่นใจว่าธนาคารกลางยังคงกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง อาทิ Fed คงมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ และธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB) หลังจากที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.25 % นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ECB จะปล่อยเงินกู้ระยะยาวเป็นกรณีพิเศษ (Long Term Refinancing Operation) ในไตรมาส 1/57 อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันน้ำมันในตลาดโลกคลายตัว โดยซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ก.ย. 56 สูงสุดตั้งแต่ปี 48 ที่ระดับ 10.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน แซงหน้ารัสเซียเป็นอันดับที่ 1 ของโลก อีกทั้งปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากรัฐ North Dakota ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 56 อยู่ที่ 930,000 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะทะลุเป้าหมายการผลิตที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปีหน้า ให้จับตามองการเจรจาระหว่างอิหร่านและกลุ่มประเทศมหาอำนาจ 6 ชาติเรื่องการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ในวันที่ 20 พ.ย. 56 ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวในกรอบ 105-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Dubai อยู่ในกรอบ 103-108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วน WTI อยู่ในกรอบ 92-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น อินโดนีเซียยังคงนำเข้า Gasoline ในระดับสูง โดยมีแผนนำเข้าในเดือน ธ.ค. 56 ที่ระดับ 10 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงกับเดือน พ.ย. 56 และสหรัฐฯ นำเข้า Gasoline เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นทางฝั่งตะวันตก (U.S. East Coast: USEC) หยุดดำเนินการนานกว่าที่คาด ทั้งนี้ EIA รายงานปริมาณสำรอง Gasoline เชิงพาณิชย์ของ USEC ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 พ.ย. 56 ลดลง1.2 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 53.0 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในปีนี้ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 112.5-117.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง โดยอุปสงค์ Diesel ในฟิลิปปินส์ลดลง เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นไห่เยี่ยนทำให้การจราจรบนท้องถนนเบาบาง ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศยังคงดำเนินการตามปกติไม่ได้รับผลกระทบอย่างใด อย่างไรก็ตามอุปทาน Gas Oil ในยุโรปตึงตัว เนื่องจากอุปสงค์บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ (NWE) เพิ่มขึ้น โดยผู้ค้าเข้าซื้อเพื่อเตรียมสำหรับใช้ทำความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว ส่วนในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118.5-123.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ