กรุงเทพฯ--19 พ.ย.--ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ
เหนือพื้นน้ำสีครามของทะเลอันดามัน ลมกำลังพัดจัด ฤดูมรสุมกำลังจะเริ่มต้นขึ้น พวกเราที่เดินทางมาถึงในช่วงรอยต่อของฤดูกำลังอยู่บนเรือรบหลวง”มันนอก”ของราชนาวีเพื่อมุ่งหน้าไปที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ โดยมีจุดหมายของการเดินทางอยู่ที่หมู่บ้านของชาวมอร์แกน พร้อมภาระกิจการติดตั้งชุดอุปกรณ์อินดิย่า (Indiya) โซล่าร์เซลล์ให้กับกลุ่มชาวเลแห่งท้องทะเลอันดามันเราเริ่มการเดินทางจาก ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย หนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนโครงการติดตั้งแสงสว่างจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชาวมอร์แกนร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( กฟภ.) มูลนิธิเด็ก และองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล (สำนักงานประเทศไทย) พร้อมๆ กับทีมอาสาสมัครของชไนเดอร์ด้วยรถตู้ที่เดินทางไม่หยุดตั้งแต่ช่วงเย็นจนไปถึงที่หมายจังหวัดพังงาในเวลา 5 นาฬิกาของเช้าวันใหม่ เมื่อมาถึงเราเดินทางต่อไปยังฐานทัพเรือเพื่อเดินทางไปพร้อมๆ กับอุปกรณ์โซล่าร์เซลล์ ที่ถูกส่งมาก่อนล่วงหน้าเพื่อไปยังหมู่เกาะสุรินทร์โดยเรือรบหลวงของกองทัพเรือ
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อ.คุระบุรี จ.พังงา เป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามันซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งไปทางทิศตะวันตกประมาณ 70 กิโลเมตร เป็นหมู่เกาะที่อยู่ติดกับเขตชายแดนไทย — พม่าที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์งดงาม ที่หมายของเราคือ “อ่าวไทรเอน” ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะสุรินทร์เหนือ อันเป็นอ่าวที่ชาวมอร์แกน ชนเผ่าที่ก่อนหน้านี้ใช้ชีวิตเดินทางเร่ร่อนอยู่ในทะเลอันดามัน และอยู่กันเป็นกลุ่มเล็กๆ กระจายไปทั่ว พม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จนกระทั่งได้มาลงหลักปักฐานตั้งบ้านเรือนอยู่บนเกาะนี้อย่างถาวร
หลังโต้ลม โต้กระแสน้ำ และแสงแดดจัดในทะเลกันมากว่า 7 ชั่วโมง น้ำทะเลเริ่มเปลี่ยนสีจากสีครามเข้มเป็นสีฟ้าใสอมเขียว จุดหมายปลายทางเริ่มมองเห็นไม่ไกล คราวนี้เราต้องขนทั้งอุปกรณ์ยังชีพ และชุดอินดิย่า จากเรือหลวงมันนอกเพื่อลงเรือขนาดเล็กกว่าที่มารับเพื่อเข้าสู่อ่าวไทรเอน ที่นั่นเจ้าหน้าที่จากหน่วยราชการต่างๆ และชาวมอร์แกนทั้งเด็ก และผู้ใหญ่กำลังรอพวกเราอยู่
วัตถุประสงค์ของทริปเดินทางทรหดของชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย ครั้งนี้ อยู่ที่การติดตั้งระบบพลังงานทางเลือกเพื่อสร้างแสงสว่างให้กับชาวมอร์แกนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จริงอยู่ที่เกาะนี้มีเครื่องปั่นกระแสไฟฟ้าที่ทำงานด้วยแก๊สอยู่แล้ว แต่ในหน้ามรสุมที่หมู่เกาะแห่งนี้จะถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง แสงสว่างที่เกิดจากพลังงานทดแทนที่มีราคาถูกกว่ากลายเป็นสิ่งจำเป็น การมีแสงสว่างในเวลากลางคืนไม่เพียงช่วยให้คุณภาพชีวิตของชาวมอร์แกนดีขึ้น แต่ยังช่วยให้เด็กๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนมีแสงสว่างในการอ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียนในช่วงค่ำ ผู้ใหญ่สามารถซ่อมแซมอุปกรณ์ทำกิน ที่สำคัญ ยังช่วยให้การรักษาพยาบาลสามารถทำได้หากเกิดเหตุในยามค่ำคืน
เราแบ่งการทำงานตามภาระกิจออกเป็นสองช่วงใหญ่ กล่าวคือช่วง 3 วันแรกจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นชุดนวัตกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อินดิย่าที่มีขนาดเล็ก เหมาะกับการติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญไม่มีความยุ่งยากในการติดตั้งเลยแม้แต่น้อย เพราะคอนเซ็ปต์ของชุดโซล่าร์คือ plug & play ตัวชุดอุปกรณ์ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลัก 3 อย่าง ได้แก่ โซล่าร์เซลล์ที่มีขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A4 เพียงเล็กน้อย โคมไฟ LED และสุดท้ายคือ แบตเตอรี่ ขนาดพอเหมาะที่รองรับพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเก็บไว้ให้กับชาวมอร์แกนบนเกาะที่มีอยู่กว่า 60 ครัวเรือน โดยอุปกรณ์ทุกอย่างถูกออกแบบมาให้สามารถประกอบได้ง่ายสำหรับการใช้งาน
ทีมอาสาสมัคร พร้อมด้วยเด็กๆและชาวบ้านช่วยกันลงมือลงแรงประกอบแผงพลังงานโซล่าร์เซลล์ และแบตเตอรี่เข้าด้วยกัน ด้วยมือโดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออื่นใด ซึ่งแต่ละชุดใช้เวลาประกอบไม่เกิน 5 นาที ส่วนที่เหลือจากนั้นคือการเลือกจุดการติดตั้งตามความต้องการของเจ้าบ้านแต่ละหลัง เมื่อการติดตั้งเสร็จสิ้นแสงจากหลอด LED ที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์สามารถทำให้บ้านขนาดกลางที่กั้น ผนัง และมุงหลังคาด้วยวัสดุจากธรรมชาติสว่างไสวได้เต็มที่เมื่อถึงเวลากลางคืน “ถ้าดูดีๆ ที่กล่องแบตเตอรี่จะเห็นช่องเล็กๆ เพื่อเสียบ USB อยู่ด้วย ดังนั้น นอกเหนือจากแสงสว่างแล้ว ยังสามารถใช้พลังงาน แสงอาทิตย์ในการชาร์จอุปกรณ์อื่นๆ เช่น โทรศัพท์มือถือได้ด้วย ชุดโซล่าร์เซลล์ที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เลือกมาเพื่อโครงการนี้ถือเป็นนวัตกรรมสำหรับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลโดยเฉพาะ ที่สำคัญดูแลง่าย ให้แสงสว่างมาก และราคาไม่แพง ตอนที่ติดตั้ง ชาวมอร์แกนคนนึงบอกผมว่า”ดีเลย คราวนี้จะได้มองเห็นหน้าภรรยาในตอนค่ำซะที” โรมาลิค เอิรนส์ ผู้จัดการฝ่ายโซลูชั่น ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เล่าให้พวกเราฟังพร้อมหัวเราะอย่างอารมณ์ดี
หลังจากการติดตั้งใน 3 วันแรกเสร็จเรียบร้อย การทำงานในวันที่ 4 คือการคัดเลือก ชาวมอร์แกน 6 คนเพื่อเป็นตัวแทนหมู่บ้านในการเข้ารับการอบรมการดูแลรักษาอุปกรณ์ทั้งโซล่าร์เซลล์ และแบตเตอรี่ของทุกครัวเรือนแบบเข้มข้น เพื่อให้แน่ใจว่าชาวบ้านจะสามารถดูแลรักษาอุปกรณ์ในระยะยาวได้ด้วยตัวเอง
การที่ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย ฝ่าหน้ามรสุมไปยังหมู่บ้านมอร์แกน ด้วยเรือหลวง มันนอก กับพันธมิตรทั้งหลาย แม้ว่าจะถูกหยิบยกให้ส่วนหนึ่งของกิจกรรม CSR แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาจากชาวมอร์แกนเป็นความประทับใจ และภูมิใจ ยิ่งกว่าแสงสว่างยามค่ำคืนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทาง ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย มอบให้นั่นคือรอยยิ้มพิมพ์ใจจากชาวบ้านที่ได้รับของนั่นเอง