กรุงเทพฯ--20 พ.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ฯ
แทรฟฟิกคลาวด์จะครองสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกภายในปี 2560 และจะเพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าจากปี 2555 ถึง 2560
ในรายงานประจำปีฉบับที่สาม “ดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ (2555-2560)” (Cisco? Global Cloud Index (2012 — 2017)) ซิสโก้คาดการณ์ว่า แทรฟฟิกคลาวด์ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนที่เติบโตเร็วที่สุดของแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ จะเพิ่มขึ้น 4.5 เท่า หรือเติบโตเฉลี่ย 35 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จาก 1.2 เซตตาไบต์ต่อปีในช่วงปี 2555 เป็น 5.3 เซตตาไบต์ภายในปี 2560 แทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์โดยรวมทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า จนแตะระดับ 7.7 เซตตาไบต์ต่อปี ภายในปี 2560
หนึ่งเซตตาไบต์เท่ากับหนึ่งพันล้านเทราไบต์ โดย 7.7 เซตตาไบต์เท่ากับ:
- การสตรีมเพลง 107 ล้านล้านชั่วโมง เทียบเท่ากับ การสตรีมเพลงต่อเนื่องประมาณ 1.5 ปี ของประชากรทั้งโลกในปี 2560
- การประชุมผ่านเว็บ 19 ล้านล้านชั่วโมง เทียบเท่ากับ การประชุมผ่านเว็บราว 14 ชั่วโมงต่อวันของพนักงานบริษัททั้งโลกในปี 2560
- การสตรีมวิดีโอที่มีความละเอียดสูง (HD) ความยาว 8 ล้านล้านชั่วโมง เทียบเท่ากับ การสตรีมวิดีโอ HD ประมาณ 2.5 ชั่วโมงต่อวันของประชากรทั้งโลกในปี 2560
ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์จะเพิ่มขึ้นจากผู้ใช้ที่เข้าถึงระบบคลาวด์สำหรับการท่องเว็บ วิดีโอสตรีมมิ่ง การทำงานร่วมกัน และอุปกรณ์ที่มีการเชื่อมต่อ โดยทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Internet of Everything ซึ่งหมายถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงผู้คน ข้อมูล กระบวนการ และสิ่งต่างๆ ทั้งหมดเข้าด้วยกัน
แทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์อื่นๆไม่ได้เกิดจากผู้ใช้ (end-users) โดยตรง แต่เกิดจากดาต้าเซ็นเตอร์และเวิร์กโหลดของระบบคลาวด์คอมพิวติ้งที่ใช้ในกิจกรรมต่างๆที่มองไม่เห็น สำหรับช่วงปี 2555-2560 ซิสโก้คาดการณ์ว่า 7 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์จะถูกสร้างขึ้นระหว่างดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งโดยเบื้องต้นแล้วเป็นผลมาจากการรีพลิเคตข้อมูลและการอัพเดตซอฟต์แวร์/ระบบ นอกจากนี้แทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์เอีก 76 เปอร์เซ็นต์จะยังคงอยู่ภายในดาต้าเซ็นเตอร์ และถูกสร้างขึ้นโดยสตอเรจและข้อมูลทีถูกจัดเก็บในสภาพแวดล้อมแบบเวอร์ช่วลไลซ์
"ผู้คนทั่วโลกยังคงต้องการเข้าถึงเนื้อหาคอนเทนต์ของบุคคล ธุรกิจ และเนื้อหาด้านความบันเทิงทุกที่บนทุกอุปกรณ์ ทรานแซคชั่นแต่ละรายการในระบบเวอร์ช่วลไลซ์และคลาวด์จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างต่อเนื่องบนเครือข่าย" ดั๊ก เมอร์ริท รองประธานอาวุโสฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของซิสโก้ กล่าว "เนื่องจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ เราจึงคาดการณ์ว่าปริมาณแทรฟฟิกคลาวด์ทั้งภายใน, ระหว่าง และภายนอกดาต้าเซ็นเตอร์ จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วง 4 ปีข้างหน้า"
นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีนของซิสโก้ กล่าวว่า “ในประเทศไทย การปรับใช้คลาวด์เป็นไปอย่างรวดเร็วและแพร่หลายมาก ประเทศไทยงคงเป็นหนึ่งในตลาดที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่รัฐบาลและผู้ให้บริการ (Service Providers) ยังคงมีบทบาทในการผลักดันในการปรับใช้คลาวด์ และใช้เป็นกลยุทธ์ในการลงทุนเพื่อส่งเสริมประเทศไทยให้เป็น “ศูนย์กลางการให้บริการคลาวด์” (Cloud Service Hub) ของภูมิภาคในอีกสามปี เพื่อสร้างรายได้และสร้างโอกาสในการทำงาน
จากผลการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ และศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยว่าตลาดคลาวด์คอมพิวติ้งในประเทศไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 2.22 — 2.33 พันล้านบาท และอัตราการเติบโตจะเพิ่มเป็น 22.1 % จาก 16.7% เทียบกับปีที่ผ่านมา จากผลการวิจัยจะเห็นได้ว่าองค์กรธุรกิจขยายการเติบโตด้วยการปรับใช้การบริการคลาวด์ (Cloud-based Optimized Service) และคลาวด์ก็กำลังเปลี่ยนรูปแบบการทำงานและการดำเนินงานของธุรกิจในปัจจุบัน
ประเทศไทยมีการใช้บริการคลาวด์ (Cloud-based service) ในอัตราทีสูงและถูกนำไปใช้ในองค์กรธุรกิจทุกระดับ รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มบี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแทรฟฟิกคลาวด์ ด้วยแทรฟฟิกของคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว องค์กรธุรกิจมีความจำเป็นที่จะต้องมีแพลตฟอร์มที่จะรองรับแทรฟฟิกคลาวด์ และทรานสฟอร์มโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีไปสู่ “คลาวด์คอมพิวติ้ง” และ “การทำงานร่วมกันผ่านคลาวด์” (Cloud-based collaboration) อีกทั้งองค์กรธุรกิจควรที่จะพัฒนาระบบเพื่อรองรับการทำงานกับแพลตฟอร์มคลาวด์โดยเฉพาะ”
จากมุมมองระดับภูมิภาค รายงานดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ (Cisco Global Cloud Index) คาดการณ์ว่าจากนี้จนถึงปี 2560 ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาจะมีอัตราการเติบโตของแทรฟฟิกคลาวด์สูงสุดโดยเฉลี่ย 57 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกโดยเฉลี่ย 43 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยเฉลี่ย 36 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ภาพรวม:
- รายงานดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ (ปี 2555-2560) มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินแนวโน้มและการเติบโตของแทรฟฟิกอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล (ไอพี) บนดาต้าเซ็นเตอร์และระบบคลาวด์ รายงานดังกล่าวนับเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับแทรฟฟิกเครือข่ายที่มีอยู่ โดยมอบข้อมูลเชิงลึกและแนวโน้มใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ ข้อมูลคาดการณ์ดังกล่าวมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เพราะ “เน็ตเวิร์ก” และ “ดาต้าเซ็นเตอร์” มีการทำงานที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นเพื่อให้บริการด้านคลาวด์
- รายงานดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ประกอบด้วยข้อมูลคาดการณ์เกี่ยวกับ “การเปลี่ยนผ่านเวิร์กโหลด” (Workload Transition) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเวิร์กโหลดกำลังเปลี่ยนย้ายจาก “ดาต้าเซ็นเตอร์ในรูปแบบเดิมๆ” ไปสู่ “เซิร์ฟเวอร์คลาวด์แบบเวอร์ช่วลไลซ์” (Virtualized Cloud Servers) เพิ่มมากขึ้น
- นอกจากนี้ ข้อมูลคาดการณ์ดังกล่าวยังประกอบด้วย รายละเอียดความพร้อมทางด้านคลาวด์ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งตรวจสอบความสามารถของเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของแต่ละภูมิภาคทั่วโลก จากเกือบ 150 ประเทศ เพื่อรองรับแอพพลิเคชั่นและบริการคลาวด์คอมพิวติ้งสำหรับองค์กรธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไป
- ดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้สร้างขึ้นจากการสร้างแบบจำลองและการวิเคราะห์แหล่งข้อมูลหลักและแหล่งข้อมูลรองที่หลากหลาย รวมถึงแทรฟฟิก 40 เทราไบต์ต่อเดือนที่สุ่มตัวอย่างจากดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงการทดสอบเครือข่ายกว่า 90 ล้านครั้ง และรายงานวิจัยตลาดขององค์กรอื่นๆ
ข้อมูล/ประเด็นสำคัญ:
- แทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในปี 2560 — ซิสโก้คาดการณ์ว่าแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์จะเพิ่มขึ้น 3 เท่าจาก 2.6 เซตตาไบต์ต่อปีในช่วงปี 2555 เป็น 7.7 เซตตาไบต์ต่อปีในช่วงปี 2560 หรือเท่ากับอัตราการเติบโตเฉลี่ย 25 เปอร์เซ็นต์
- แทรฟฟิกคลาวด์ทั่วโลกจะเติบโตรวดเร็วกว่าแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกโดยรวม — การเปลี่ยนย้ายไปสู่บริการคลาวด์ส่งผลให้แทรฟฟิกคลาวด์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก โดยแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า (เฉลี่ย 25 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) จากปี 2555 ถึง 2560 ขณะที่แทรฟฟิกคลาวด์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 4.5 เท่า (เฉลี่ย 35 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) ในช่วงเวลาเดียวกัน
- แทรฟฟิกคลาวด์ทั่วโลกจะคิดเป็นสัดส่วนกว่าสองในสามของแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลก - ในปี 2555 แทรฟฟิกคลาวด์จะเพิ่มขึ้นจาก 46 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหมด (98 เอ็กซาไบต์ต่อเดือน หรือ 1.2 เซตตาไบต์ต่อปี) เป็น 69 เปอร์เซ็นต์ของแทรฟฟิกดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหมด (443 เอ็กซาไบต์ต่อเดือน หรือ 5.3 เซตตาไบต์ต่อปี) ภายในปี 2560
- การเติบโตของแทรฟฟิกคลาวด์ ในระดับภูมิภาค: ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาจะมีอัตราการเติบโตของแทรฟฟิกคลาวด์สูงสุดในช่วงปี 2555-2560 - ดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้รายงานข้อมูลคาดการณ์สำหรับการเติบโตของแทรฟฟิกคลาวด์ในแต่ละภูมิภาคดังนี้
- ในปี 2555 อเมริกาเหนือสร้างแทรฟฟิกคลาวด์มากที่สุด (469 เอ็กซาไบต์ต่อปี) ตามมาด้วยเอเชีย-แปซิฟิก (319 เอ็กซาไบต์ต่อปี) และยุโรปตะวันตก (225 เอ็กซาไบต์ต่อปี)
- ภายในปี 2560 อเมริกาเหนือจะสร้างแทรฟฟิกคลาวด์มากที่สุด (1.886 เซตตาไบต์ต่อปี) ตามมาด้วยเอเชีย-แปซิฟิก (1.876 เซตตาไบต์ต่อปี) และยุโรปตะวันตก (770 เอ็กซาไบต์ต่อปี)
- การเปลี่ยนผ่านเวิร์กโหลด: ในช่วงปี 2555 ถึง 2560 เวิร์กโหลดจะเพิ่มขึ้น 2.3 เท่า โดยเวิร์กโหลดคลาวด์จะเพิ่มขึ้น 3.7 เท่า — ในปี 2555 เวิร์กโหลด 39 เปอร์เซ็นต์จะได้รับการประมวลผลในระบบคลาวด์ และอีก 61 เปอร์เซ็นต์จะได้รับการจัดการในดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วไป
- ปี 2557 จะเป็นปีแรกที่เวิร์กโหลดส่วนใหญ่เปลี่ยนย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ โดย 51 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดทั้งหมดจะได้รับการประมวลผลในระบบคลาวด์ เปรียบเทียบกับ 49 เปอร์เซ็นต์ที่จะถูกประมวลผลในระบบไอทีทั่วไป
- ภายในปี 2560 เกือบสองในสามหรือ 63 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดจะได้รับการประมวลผลโดยดาต้าเซ็นเตอร์แบบคลาวด์ ขณะที่ 37 เปอร์เซ็นต์จะได้รับการประมวลผลโดยดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วไป
- อัตราส่วนของเวิร์กโหลดต่อคลาวด์เซิร์ฟเวอร์ที่ไม่ได้ทำเวอร์ช่วลไลซ์จะเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ในปี 2555 เป็น 16.7 ภายในปี 2560 เมื่อเปรียบเทียบกัน อัตราส่วนเวิร์กโหลดต่อเซิร์ฟเวอร์ในดาต้าเซ็นเตอร์รุ่นเก่าที่ไม่ได้ทำเวอร์ช่วลไลซ์จะเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ในปี 2555 เป็น 2.3 ภายในปี 2560
- การเติบโตของเวิร์กโหลด แยกตามภูมิภาค: ภายในปี 2560 ภูมิภาคอเมริกาเหนือจะประมวลผลเวิร์กโหลดคลาวด์มากที่สุด ตามมาด้วยภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก - ดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ประกอบด้วยข้อมูลคาดการณ์สำหรับการเติบโตของเวิร์กโหลดในแต่ละภูมิภาค
- ในปี 2555 อเมริกาเหนือมีเวิร์กโหลดคลาวด์มากที่สุด (15.2 ล้านหรือ 47 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดคลาวด์ทั่วโลก) ตามมาด้วยเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีเวิร์กโหลด 6.8 ล้าน หรือเท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดคลาวด์ทั่วโลกในปี 2555
- ภายในปี 2560 อเมริกาเหนือจะประมวลผลเวิร์กโหลดคลาวด์มากที่สุด (48.2 ล้านหรือ 41 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดคลาวด์ทั่วโลก) ตามมาด้วยเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีเวิร์กโหลด 36.5 ล้าน หรือเท่ากับ 31 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดคลาวด์ทั่วโลกภายในปี 2560
- ในช่วงปี 2555 ถึง 2560 ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของเวิร์กโหลดคลาวด์สูงสุด (เฉลี่ย 45 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) ตามมาด้วยเอเชีย-แปซิฟิก (เฉลี่ย 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) และยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก (เฉลี่ย 31 เปอร์เซ็นต์ต่อปี)
- ข้อมูลระดับโลก ไม่รวมภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และเอเชีย-แปซิฟิก เวิร์กโหลดดาต้าเซ็นเตอร์แบบเดิมๆ (ที่ไม่ใช่เวิร์กโหลดคลาวด์) จะเพิ่มขึ้นในอัตราเลขสองหลักต่อปี จากปี 2555 ถึง 2560
ความพร้อมของคลาวด์:
เพื่อประเมินความพร้อมของคลาวด์ มีการวิเคราะห์คุณสมบัติที่หลากหลายของเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีการวิเคราะห์ความเร็วในการอัพโหลดและดาวน์โหลดที่เป็นค่าเฉลี่ย (Average) และค่ากลาง (Median) โดยค่ากลางถูกเพิ่มเข้าไปในปีนี้เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความผันแปรของความพร้อมทางด้านคลาวด์สำหรับผู้ใช้ในแต่ละประเทศ โดยมีการจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับคุณลักษณะทางด้านประสิทธิภาพของเครือข่ายสำหรับแต่ละภูมิภาค เช่น เอเชีย-แปซิฟิก ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ละตินอเมริกา ตะวันออกกลางและแอฟริกา อเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตก สำหรับการศึกษานี้ มีการใช้หมวดหมู่การสุ่มตัวอย่างดังต่อไปนี้:
- Basic Cloud Apps / Network Requirements
Download Speed: Up to 750 kbps; Upload Speed: Up to 250 kbps; Latency: Above 160 ms
- ความต้องการเบื้องต้นสำหรับคลาวด์แอพ และเครือข่าย
ความเร็วในการดาวน์โหลด: สูงสุด 750 kbps; ความเร็วในการอัพโหลด: สูงสุด 250 kbps; การหน่วงเวลา: มากกว่า 160 มิลลิวินาที
ตัวอย่างบริการพื้นฐานสำหรับผู้บริโภค: การสื่อสารด้วยข้อความ (อีเมล, ข้อความ Instant Message), การท่องเว็บ, ที่เก็บเนื้อหาส่วนบุคคล (ไม่ใช่มัลติมีเดีย), อี-แบงค์กิ้ง, เกมแบบผู้เล่นคนเดียว, โซเชียลเน็ตเวิร์ก (ข้อความเท่านั้น), การสตรีมวิดีโอ/เพลงขั้นพื้นฐาน
ตัวอย่างบริการพื้นฐานสำหรับธุรกิจ: การสื่อสารด้วยข้อความ (อีเมล, ข้อความ Instant Message), VoIP, การประชุมผ่านเว็บ
- ความต้องการระดับกลางสำหรับคลาวด์แอพ และเครือข่าย
ความเร็วในการดาวน์โหลด: สูงสุด 751—2,500 kbps; ความเร็วในการอัพโหลด: 251—1,000 kbps; การหน่วงเวลา: 159—100 มิลลิวินาที
ตัวอย่างบริการระดับกลางสำหรับผู้บริโภค: ระบบบ้านอัจฉริยะ, ที่เก็บคอนเทนต์มัลติมีเดียเฉพาะบุคคล, การซื้อสินค้าออนไลน์, เกมแบบผู้เล่นหลายคน, โซเชียลเน็ตเวิร์ก (มัลติมีเดีย/อินเทอร์แอคทีฟ), การสตรีมเพลง/วิดีโอ HD, การสนทนาทางวิดีโอผ่าน IM
ตัวอย่างบริการระดับกลางสำหรับธุรกิจ: ERP/CRM, การประชุมด้วยเสียงบนเครือข่ายไอพี, การประชุมทางวิดีโอ
ความต้องการระดับสูงสำหรับคลาวด์แอพ และเครือข่าย
ความเร็วในการดาวน์โหลด: สูงกว่า 2,500 kbps; ความเร็วในการอัพโหลด: สูงกว่า 1,000 kbps; การหน่วงเวลา: น้อยกว่า 100 มิลลิวินาที
ตัวอย่างบริการระดับสูงสำหรับผู้บริโภค: Connected Education, Connected Medicine, การสนทนาด้วยวิดีโอ HD, การสตรีมวิดีโอ Super HD, การสตรีมวิดีโอ 3D
ตัวอย่างบริการระดับสูงสำหรับธุรกิจ: ออฟฟิศเสมือนจริง, การประชุมด้วยเสียงแบบ HD, การประชุมด้วยวิดีโอแบบ HD
ปัจจุบันทุกภูมิภาคมีเครือข่ายพื้นฐาน (Fixed Network) ที่สามารถรองรับบริการคลาวด์ระดับกลางได้
- เครือข่ายพื้นฐานของเอเชีย-แปซิฟิก อเมริกาเหนือ ยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันตก และละตินอเมริกา สามารถรองรับคลาวด์แอพพลิเคชั่นระดับสูง
- ทุกภูมิภาคมีเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Network) ที่สามารถรองรับบริการคลาวด์ได้ในบางระดับ
- เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของเอเชีย-แปซิฟิก ตะวันออกกลางและแอฟริกา และละตินอเมริกา สามารถรองรับคลาวด์แอพพลิเคชั่นระดับพื้นฐาน
- เครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก อเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันตก สามารถรองรับคลาวด์แอพพลิเคชั่นระดับกลาง
- ดัชนีชี้ให้เห็นว่ามีบางประเทศที่มีประสิทธิภาพของเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงกว่าค่าความพร้อมทางด้านคลาวด์โดยเฉลี่ยของภูมิภาค เช่น ในฮ่องกงและสิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประสิทธิภาพของเครือข่ายพื้นฐานและเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถรองรับคลาวด์แอพพลิเคชั่นขั้นสูงได้
*การใช้งานหลายแอพพลิเคชั่นพร้อมๆกันต้องอาศัยประสิทธิภาพเครือข่ายที่สูงกว่าข้อกำหนดที่ระบุไว้ข้างต้นสำหรับการสนับสนุนแต่ละแอพพลิเคชั่น ข้อกำหนดสำหรับการใช้งานหลายแอพพลิเคชั่นพร้อมกันมีระบุไว้ใน “การคาดการณ์และระเบียบวิธีวิจัยสำหรับดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้, 2555 — 2560”