กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--โฟร์ พี แอดส์
อธิบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เร่งสร้างความรู้ด้านการใช้สมุนไพรในการป้องกันและรักษาโรคเบาหวานแก่ประชาชน หวังนำสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย สร้างทางเลือกใหม่ให้ประชาชนได้ใช้เป็นแนวทางในการดูแลรักษาสุขภาพ ย้ำ!!สมุนไพรช่วยได้แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพควบคู่ไปด้วย
ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่าเบาหวานคือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลในเลือดไปใช้ได้ตามปกติ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อนปล่อยฮอร์โมนที่เรียกว่า “อินซูลิน” ออกมาไม่พอกับความต้องการของร่างกาย โรคเบาหวานเป็นปัญหาสาธารณสุขและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆของโรคไม่ติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองสูงกว่าคนปกติประมาณ 2-4 เท่า มากกว่าครึ่งของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักพบความผิดปกติของปลายประสาท โดยเฉพาะในเพศชายจะทำให้เกิดอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้
โรคเบาหวานเป็นโรคที่ได้รับการวิเคราะห์ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบัน จากเครื่องมือการตรวจน้ำตาลในเลือด ซึ่งมีการบันทึกตำรับยาที่นำมาเป็นยาในการรักษาโรคไว้ในสมัยรัชกาลที่ 5 ว่าการแพทย์แผนปัจจุบันเริ่มเข้ามามีบทบาทกับการรักษาโรคเบาหวานในประเทศไทยแล้ว ส่วนทางศาสตร์ด้านการแพทย์แผนไทยลักษณะของโรคนี้มีมาช้านาน แต่ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นโรคเบาหวาน เพราะไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จะนำมาเจาะเลือด แต่ก็มีการนำสมุนไพรมาใช้ปรุงยาเพื่อรักษาเบาหวานอย่างช้านานเช่นกัน ถึงแม้โรคเบาหวานเป็นโรคที่รักษาได้ไม่หายขาด แต่เราก็สามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ใจดูแลสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันได้มีการต่อยอดนำสมุนไพรมาใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพ ป้องกัน และบำบัดรักษาโรคเบาหวานกันอย่างแพร่หลาย อาทิ มะระขี้นก, อบเชย, ไหมข้าวโพด, ใบสักทอง, เห็ดหลินจือ,ไมยราบ, บอระเพ็ด และปัญจขันธ์ เป็นต้น
ดร.นพ.ธวัชชัย ให้ข้อมูลว่า “มะระขี้นก” เป็นผักพื้นบ้านที่มีคุณประโยชน์แก่ร่างกายสูง ทั้งด้านคุณค่าทางอาหาร คือ พลังงาน คาร์โบไฮเดรต โปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย วิตามิน A, B1, B2, C ไนอาซีน และไทอามีน และประโยชน์ทางยา คือ ลดน้ำตาลในเลือด (แก้โรคเบาหวาน) จากการศึกษาวิจัยพบว่าในมะระขี้นกจะมีสาร Charantinช่วยลดน้ำตาลในเลือดสามารถบำบัดรักษาโรคเบาหวานได้ ในการรับประทานมะระขี้นกให้หั่นเนื้อมะระตากแห้งชงน้ำดื่ม ถ้าต้องการกลบรสขมให้เติมใบชาลงไปด้วย ขณะที่ชงดื่มต่างน้ำชา ส่วนน้ำต้มผลมะระ สามารถลดการเกิดต้อกระจก ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงในคนที่เป็นโรคเบาหวานได้ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือพึงระลึกว่าเมล็ดของมะระขี้นกอาจมีพิษ หากจะนำผลมะระขี้นกมาทำยารับประทานต้องแกะเมล็ดออกเสมอ
ส่วน “อบเชย” เป็นพืชสมุนไพรที่มีสาระสำคัญ คือ เมธิลไฮดรอกซี่ซาลโคนโพลิเมอร์ (Methylhydroxy Chalcone Polymer หรือ MHCP) ซึ่งเป็นเป็นสารที่มีคุณสมบัติและความสามารถในการทำงานคล้ายกับฮอร์โมนอินซูลิน คือช่วยเพิ่มความสามารถในการเผาผลาญกลูโคสให้ได้มากขึ้น จึงมีผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และจะไม่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ถ้ามีการรับประทาน "อบเชย" อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ การใช้อบเชยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดนั้นจะมีความปลอดภัยมากว่าการใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เพราะสามารถรับประทานได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เกิดผลข้างเคียงกับร่างกายแต่อย่างใดโดยภายใน1 วันควรรับประทาน "อบเชย" อย่างน้อย 1 กรัม และให้รับประทานอย่างต่อเนื่อง ถ้าเป็นผงอบเชยจีนให้รับประทาน เช้า เย็น อย่างละครึ่งช้อนชา อย่างน้อย 20 วัน ทั้งนี้ควรให้ผู้ป่วยทำการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้การกินข้าวกล้องและธัญพืชต่าง ๆ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ร่วมกับการทำสมาธิปรับสมดุลทางอารมณ์ จะช่วยเสริมการป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทางด้านเภสัชกรหญิงผกากรอง ขวัญข้าว โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวเสริมว่าถึงแม้สมุนไพรจะสามารถป้องกัน บำบัดและรักษาโรคเบาหวานได้ แต่ควรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง จะช่วยให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานได้ ตั้งแต่เรื่องอาหารเน้นกินปลาเป็นหลัก กินผักทุกมื้อ โดยเฉพาะผักพื้นบ้านที่หลากหลาย เนื่องจากเส้นใยในผักพื้นบ้านทำให้อิ่มง่าย ปริมาณแคลอรีที่รับประทานเข้าสู่ร่างกายน้อย จึงช่วยป้องกันและรักษาโรคเบาหวานได้ เส้นใยในผักยังช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินในอาหารมื้อที่กินเข้าไป และช่วยขับไขมันมาพร้อมกับกรดน้ำดี ไม่ได้ดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย อาหารที่มีเส้นใยสูงจึงช่วยป้องกันรักษาโรคเบาหวาน โรคไขมันในหลอดเลือดสูง เป็นผลในการรักษาระดับความดันโลหิต ป้องกันการเกิดโรคหัวใจในระยะยาวได้