กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์
กลุ่มมิตรผล ร่วมกับ บริษัท กรีนสปอต จำกัด บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จัดตั้งชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย พร้อมเปิดโครงการนำร่องส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ในดิน และเพิ่มผลผลิตอ้อยอย่างยั่งยืนตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ รวมทั้งช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร และลดการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ ตั้งเป้าช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้ 15 ตันต่อไร่ พร้อมขยายโครงการสู่กว่า10 จังหวัด ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
โครงการดังกล่าว เกิดจากความมุ่งมั่นของกลุ่มมิตรผล และพันธมิตรทั้ง 3 องค์กรของชมรมผู้ส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองในประเทศไทย ในการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินอย่างครบวงจรนับตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยกลุ่มมิตรผลจะสนับสนุนการเข้าถึงและให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการปลูกถั่วเหลืองแก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย สยามคูโบต้าจะให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว และการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมในทุกขั้นตอน เพื่อช่วย
ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ส่วนกรีนสปอต ผู้ผลิตน้ำนมถั่วเหลืองตราไวตามิ้ลค์ และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม
นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า “กลุ่มมิตรผล ไม่เพียงให้ความสำคัญกับการสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับชาวไร่อ้อยเท่านั้น แต่เรายังมุ่งให้ความรู้ด้านการจัดการอย่างเป็นระบบตามแนวทางการปลูกอ้อยยุคใหม่ หรือ Modern Farm ที่เน้นการจัดการไร่อ้อยอย่างยั่งยืน โดยหนึ่งในนั้นคือการปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน สำหรับแปลงอ้อยที่รื้อตอหลังการเก็บเกี่ยวอ้อย นอกจากชาวไร่อ้อยจะได้รายได้เสริมจากการปลูกถั่วเหลืองแล้ว ชาวไร่ยังไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรื้อแปลงปลูกถั่วเหลืองหลังเก็บเกี่ยว เพราะสามารถไถกลบเตรียมปลูกอ้อยชุดใหม่ได้ทันที โดยถั่วเหลืองจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนซึ่งเป็นธาตุอาหารในดินให้กับอ้อย ประโยชน์ที่ได้คือผลผลิตอ้อยที่เพิ่มมากขึ้น และต้นทุนในการใช้ปุ๋ยลดลง รวมทั้งช่วยตัดวงจรของโรคและแมลง ถือเป็นการทำไร่อ้อยด้วยระบบชีววิธีที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนในภาคเกษตร"
นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า “แนวทางการจัดการเพาะปลูกในภาคการเกษตรปัจจุบันมีความจำเป็นต้องอาศัยระบบการเพาะปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งขั้นตอนสำคัญหนึ่ง คือ มีระบบการพักดินและบำรุงดิน เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ดีขึ้น รวมทั้งยังช่วยตัดวงจรโรคพืชและแมลงศัตรูพืช โดยในระบบการปลูกพืชสมัยใหม่นี้มีหลักการสำคัญคือมีประสิทธิภาพและทันเวลา ดังนั้นเครื่องจักรกลการเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต นอกจากนี้ยังช่วยทดแทนแรงงานคนที่หายากและขาดแคลนอีกด้วย สยามคูโบต้า จึงเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเครื่องจักรกลการเกษตรให้เหมาะสม สามารถรองรับการใช้งานในทุกขั้นตอน ในปัจจุบันสยามคูโบต้า ได้พัฒนารถเกี่ยวนวดถั่วเหลืองมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวถั่วเหลือง"
นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนสปอต จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำนมถั่วเหลืองตราไวตามิ้ลค์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างไวตามิ้ลค์กับพันธมิตรทางธุรกิจเอกชน 3 องค์กร ประกอบด้วย กลุ่มมิตรผล บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว รวมทั้งภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร รวมทั้งสำนักวิชาการ นับเป็นการตอกย้ำพันธกิจขององค์กรใน 'การเติมพลังชีวิตและความสุขให้กับทุกคน' โดยโครงการปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อยช่วงบำรุงดินในครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดินเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดินอย่างครบวงจร และยังเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าแล้ว ยังถือเป็นการสร้างและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้ เพราะไวตามิ้ลค์ยินดีที่จะเป็นหลักประกันรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรม เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่และมีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน"
นายวิชิต วิทยฐานกรณ์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว กล่าวว่า “ปัจจุบันการปลูกถั่วเหลืองในประเทศมีปริมาณไม่ถึงแสนตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ถั่วเหลืองมีปริมาณสูงกว่า 1.5 ล้านตัน ดังนั้น การปลูกถั่วเหลืองในไร่อ้อยช่วงบำรุงดิน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะมาทดแทนปริมาณการนำเข้า ผมเชื่อว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะจากที่ได้ศึกษาทุกภาคส่วนจะได้ประโยชน์จากโครงการอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือภาคเอกชน รวมถึงชาวไร่อ้อยทั้งหมด”
นอกจากความร่วมมือของภาคเอกชนแล้ว โครงการดังกล่าวยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ในการจัดหาเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ และให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูก การบำรุงรักษา และการป้องกันโรคพืช รวมทั้งส่งนักวิชาการมาอบรมความรู้และให้คำแนะนำ เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ และเกษตรกรได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพในปริมาณมาก
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ได้ดำเนินการในพื้นที่ไร่ของกลุ่มมิตรผล โดยนำร่อง ที่ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี และที่ภาคอีสาน ได้แก่จังหวัดชัยภูมิ และกาฬสินธุ์ และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในเขตส่งเสริมไร่อ้อยของมิตรผล ประมาณ 10 จังหวัด โดยการเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองในครั้งแรกนี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตถั่วเหลืองราว 200 ตัน ซึ่งทางกรีนสปอต และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว จะเป็นผู้รับซื้อไว้ทั้งหมด เพื่อสร้างหลักประกันด้านตลาดให้กับเกษตรกร และทดแทนการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยถั่วเหลืองเกรดแปรรูปอาหารจะได้ราคาสูง และเกรดสกัดน้ำมันจะได้ราคารองลงมาตามราคาตลาดโลก
"พันธมิตรทุกฝ่ายรู้สึกภาคภูมิใจ ที่ได้มีโอกาสนำเสนอโครงการดีๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกร และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมของไทย เราอยากเชิญชวนเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้หันมาศึกษาถึงประโยชน์ของการปลูกถั่วเหลืองในช่วงบำรุงดิน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ของตน และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับทรัพยากรดินได้อย่างยั่งยืน" นายกฤษฎา กล่าวสรุป