กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--ไอเดียเวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
สุนัขพันธุ์ “ปั๊ก” เป็นพันธุ์ที่สรีระของร่างกายเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย อาทิ ภาวะหน้าสั้นทำให้เกิดปัญหาทางเดินหายใจส่วนต้นและโรคตา ภาวะอ้วนง่าย ทำให้มีปัญหาขาโดยเฉพาะการเสื่อมของลูกสะบ้าที่เข่าและข้อสะโพก นอกจากนี้ ในส่วนของไขมันที่มาพอกบริเวณคอ ก็จะทำให้ภาวะหายใจที่ผิดปกตินั้นมีมากขึ้นไปอีก รวมถึงโรคทางผิวหนังอื่นๆ อีกมากมาย แต่ใช่ว่าน้องปั๊กทุกตัวจะเป็นโรคเหล่านี้ได้ หากเจ้าของรู้เท่าทันถึงโรคและเลี้ยงน้องอย่างถูกวิธี ก็จะทำให้ห่างไกลโรคเหล่านี้ได้แน่นอน
แล้วจะเลี้ยงอย่างไรให้รู้เท่าทัน...โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชันได้ร่วมกับนิตยสารสื่อรักสัตว์เลี้ยง จัดอบรม “เลี้ยงปั๊กอย่างไรให้ห่างไกลโรคผิวหนังขี้เรื้อน โรคเชื้อรา เชื้อยีสต์ในหูและโรคฮีทสโตก” ให้กับเจ้าของสุนัขพันธุ์ปั๊กที่สนใจ เพื่อได้นำความรู้ไปปรับใช้อย่างถูกวิธี ณ โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีนายสัตวแพทย์บูรพงษ์ สุธีรัตน์ และสัตวแพทย์หญิงสุภารีย์ ศักดิ์ศรชัย เป็นวิทยากรร่วมบรรยาย ปรากฏว่า ได้รับผลการตอบรับอย่างสูง เพราะมีมีเจ้าของสุนัขพันธุ์ปั๊ก รวมทั้ง สมาชิกชมรมคนรักปั๊ก หมู่บ้านปั๊ก ปั๊กไทยแลนด์คลับ และชมรมคนรักสุนัข ร่วมรับฟังข้อมูลอย่างล้นหลาม
นายสัตวแพทย์บูรพงษ์ สุธีรัตน์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน กล่าวว่า โรคฮีทสโตก (Heatstroke) หรือภาวะช็อคจากความร้อน เกิดขึ้นเมื่อร่างกายของสุนัขมีอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 106-109 องศาฟาเรนไฮน์ จึงทำให้ร่างกายสูญเสียความสามารถในการระบายความร้อน ส่งผลให้กระบวนการ oxidative phosphorylation ผิดปกติไป เอนไซม์เสียรูปร่าง ผนังเซลล์ถูกทำลาย ส่งผลให้การแข็งตัวของเลือด ไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร และระบบประสาทส่วนกลางล้มเหลว เกิดความเสียหายต่อเนื้อเยื่อต่างๆ ตามมา มีรายงานว่าทำให้น้องหมามีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 36-50%
“เพราะการระบายความร้อนผ่านทางการแผ่รังสี การนำความร้อน การพาความร้อน และการระเหยไม่เพียงพอ สุนัขจึงต้องอาศัยการหอบเป็นการช่วยระบายความร้อนอีกทางหนึ่ง โดยสาเหตุของโรคนี้มาจากสภาวะแวดล้อม เช่น อยู่ในสถานที่ที่มีน้ำไม่พียงพอ การระบายอากาศไม่ดี มีความชื้นสูง หรือสุนัขไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศได้ หรือสาเหตุหนึ่งมาจากสภาพร่างกายของสุนัขเอง เช่น รูปร่างอ้วน เป็นสายพันธุ์หน้าสั้นอย่างพันธุ์ปั๊ก ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคฮีทสโตกมาก แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิและความชื้นปกติก็ตาม”
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ เจ้าของต้องคอยสังเกตอาการของสุนัขบ่อยๆ หากเมื่อใดก็ตามที่สุนัขดูหอบมากกว่าปกติ นั่นเป็นสัญญาณเริ่มแรกของโรคฮีทสโตก เจ้าของต้องรีบให้สุนัขอยู่ในที่เย็น หลบแดด หาน้ำให้ทาน และรีบเช็ดตัวด้วยน้ำเย็นเมื่อมีไข้ ตรวจสอบสถานที่ๆสุนัขอยู่ ต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวก มีสุนัขจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตจากโรคนี้ เนื่องจากถูกทิ้งไว้ในรถ ควรหลีกเลี่ยงกรงชนิดที่ทำด้วยเหล็กและหลังคานำความร้อน และไม่ควรใส่ตะกร้อครอบปากสุนัขในวันที่อากาศร้อน เพราะปิดกั้นการหอบซึ่งเป็นการระบายความร้อนอย่างหนึ่งของสุนัข
“นอกจากนี้ การเช็ดตัวสุนัขที่เป็นโรคฮีทสโตก ด้วยน้ำเย็นนั้นต้องทำทันที ไม่ควรรอจนกว่าจะพบสัตวแพทย์เพราะอาจสายเกินไป มีรายงานว่าสุนัขที่เจ้าของทำการเช็ดตัวก่อนมาพบแพทย์นั้นมีอัตราการตายเพียง 38% เมื่อเทียบกับสุนัขที่ไม่ได้ทำการเช็ดตัวลดไข้มาก่อนซึ่งมีอัตราการตายถึง 61%” นายสัตวแพทย์บูรพงษ์ กล่าว
ด้านสัตวแพทย์หญิงสุภารีย์ ศักดิ์ศรชัย สัตวแพทย์เฉพาะทางด้านโรคผิวหนัง กล่าวว่า สำหรับโรคผิวหนังที่พบบ่อยในสุนัขพันธุ์ปั๊กและมักจะมีปัญหาซ้ำๆ จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง ได้แก่ โรคติดเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ เชื้อรา ซึ่งแบคทีเรียจะมีอยู่ที่ตัวสุนัขเอง เนื่องจากปั๊กเป็นพันธุ์ที่มีชั้นผิวหนังหนา มีการผลิตไขมันที่ผิวเยอะซึ่งไขมันก็เป็นอาหารของเชื้อโรค จึงทำให้มีปัญหาโรคติดเชื้อได้ง่าย สาเหตุประมาณ 80% เกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวกลมที่เรียกว่า Staphylococcus pseudintermedius เมื่อเป็นโรคจะเกิดอาการตุ่มแดง ตุ่มหนอง ขนร่วง ผิวแดง มีรังแค คัน ส่วนเชื้อยีสต์ เชื้อรา และไรในหูจะส่งผลให้เกิดการอักเสบของหลืบผิวหนัง และช่องหูอักเสบ เนื่องจากซอกหลืบผิวหนังนี้เป็นบริเวณที่อาหารถ่ายเทไม่สะดวกและอับชื้นง่าย สุนัขจะมีอาการคันมาก ขนร่วง ผิวแดง โดยปกติแล้วการเช็ดทำความสะอาดทำให้ซอกหลืบแห้งอยู่เสมอและการคุมน้ำหนักจะลดการเกิดโรคนี้ได้ และหากน้องหมาเกิดโรคนี้แล้วไม่ได้รับการรักษาจะเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามมา ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น
“นอกจากนี้ ยังมีโรคขี้เรื้อแห้งที่จะทำให้สุนัขจะมีอาการคันมาก ขนร่วงและสะเก็ดแห้งๆ เกาะอยู่มักเป็นบริเวณใบหูก่อน แล้วลามไปบริเวณอื่น หากตรวจพบเร็วการรักษาจะไม่ยุ่งยาก การใช้ยาฆ่าตัวไรเพียง 2 ครั้ง โดยมีระยะเวลาห่างกัน 2 สัปดาห์ก็สามารถตัดวงจรได้ ส่วนโรคขี้เรื้อนเปียกพบเชื้อได้ในผิวหนังปกติ แต่หากร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำหรือมีปัญหาโน้มนำจากโรคอื่น เช่น ภูมิแพ้ โรคฮอร์โมนต่างๆ ก็จะทำให้ขี้เรื้อนมีจำนวนมากขึ้นและก่อโรคได้ ทั้งนี้ การรักษาขี้เรื้อนเปียกนั้นค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลาในการรักษานาน ต้องใช้การรักษาหลายอย่างร่วมกันทั้งยาทานและยาภายนอก รวมถึงแชมพูยาด้วยและสุนัขอาจกลับมาเป็นใหม่ได้ ฉะนั้น การดูแลรักษาแต่เนิ่นๆ และการจัดสภาพสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยจะลดโอกาสการเกิดโรคของน้องหมา หรือหากพบความผิดปกติใดๆ ควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุดเพราะหากมีอาการมากแล้วการรักษาจะยุ่งยาก ซับซ้อน ใช้เวลาในการรักษานาน” สัตวแพทย์หญิงสุภารีย์ กล่าว
ด้านคุณวรรณดี ยศศิริ เจ้าของสุนัขพันธุ์ปั๊ก “น้องใบตองกับใบเตย” จากจังหวัดอ่างทอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เล่าให้ฟังว่า “น้องหมาที่มีปัญหาตอนนี้คือ น้องใบตองที่เป็นโรคขี้เรื้อนเปียกอาการเริ่มแรกจะขนร่วงเยอะ เป็นตุ่มครั้งแรกคิดว่าแพ้ยุงจึงหายาทาให้เองจนเมื่อพาเขาไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าคุณหมอบอกว่าหมาเป็นตุ่มอย่างนี้น่าจะเป็นขี้เรื้อนเปียก จึงได้ขูดเชื้อตรวจและเริ่มรักษา 6 อาทิตย์แต่ก็ขาดการรักษาไป 1 เดือนจนอาการกำเริบมาใหม่จึงต้องพาไปหาหมออีกครั้ง ตนเลี้ยงสุนัขมาเยอะแต่ก็ไม่เคยเห็นตัวไหนเป็นเหมือนสุนัขสองตัวนี้ เสียค่ารักษาไปเยอะถึงสองถึงสามพันบาทต่อเดือน คิดว่าหากเราดูแลเขาดีคงไม่ต้องเสียเงินมากขนาดนี้แน่นอน จึงตัดสินใจเข้าร่วมอบรมในวันนี้ เพราะอยากได้ความรู้มากขึ้น เพราะไม่มีความรู้เกี่ยวกับสุนัขพันธุ์นี้มาก่อน จะได้นำไปปรับใช้กับสุนัขของเราได้ ซึ่งคุณหมอบรรยายเข้าใจง่าย และเป็นกันเองมาก ทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งข้อควรระวังต่างๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับน้องหมาได้อย่างถูกต้อง จะได้ไม่ต้องเป็นโรคมากกว่านี้
ส่วนคุณมิ้ง-ปรียาภรณ์ ตันอารี จากจ.เพชรบุรี เจ้าของ “น้องหลอดแก้ว ” บอกว่า การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ได้ความรู้เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเรื่องน้ำหนักตัวของสุนัขพันธุ์ปั๊ก ซึ่งตัวจะอ้วนง่าย ถึงแม้ว่าจะให้เขากินอาหารในปริมาณน้อยและให้อาหารที่ควบคุมน้ำหนักแล้วก็ตาม และยังต้องระวังระบบทางเดินหายใจของเขาด้วย คิดว่าคุ้มค่ามากๆ ที่เดินทางมาจากเพชรบุรีเพราะได้ทั้งความรู้และพบปะกับเพื่อนๆ ที่เลี้ยงปั๊กด้วยกัน หากครั้งหน้ามีการจัดอบรมแบบนี้อีกจะมาแน่นอน และอยากให้มีการจัดอบรมเกี่ยวกับความรู้อีกในหัวข้ออื่น ๆ อีกเพราะน่าสนใจและมีประโยชน์กับเจ้าของสุนัขอย่างมาก
ปิดท้ายที่คุณทราย-ปรียาภรณ์ ม่วงไหมทอง เจ้าของ “น้องบะหมี่และน้องตังค์ทอน” กล่าวว่า เข้าร่วมอบรมที่นี่เป็นครั้งแรก รู้สึกได้เลยว่าบรรยากาศของโรงพยาบาลดีมาก มีความร่มรื่น หากน้องหมามาอยู่น่าจะไม่เครียดและรู้สึกชอบแน่นอน ส่วนคุณหมอบรรยายได้ความรู้ดีมาก เช่น เรื่องการอาบน้ำ ปกติทางเราจะไดร์ร้อนตลอด และคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่คุณหมอบอกคือควรจะเป็นไดร์เย็นมากกว่า เพื่อดีต่อผิวหนังของน้องเองและก็ไม่แสบร้อน และน้องจะได้รู้สึกสบายตัว ทำให้เห็นว่าบางทีความเชื่อของเราก็เป็นความเชื่อที่ผิด พอได้มาฟังในวันนี้ก็ทำให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งประทับใจอย่างมาก