กรุงเทพฯ--22 พ.ย.--สสส.
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2556 ที่สวนพุทธธรรม หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ โครงการ ปิ๊งส์ แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ร่วมกับ บริษัท โพลี เทเลมีเดีย จำกัด, สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และโครงการผลักดันการเดินและการใช้จักรยานไปสู่นโยบายสาธารณะของประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการประกวดหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน” (เมื่อสองเท้าเริ่มออกเดิน...เราเริ่มเห็นชีวิตด้านดีๆ มาร่วมทำให้ความคิดออกเดินด้วยกัน) เปิดโอกาสให้เยาวชนสร้างสรรค์หนังสั้นเป็นสื่อเพื่อรณรงค์ให้สังคมรักการเดิน เพราะ “การเดิน” สร้างสุขภาพให้พลัสได้มากกว่าที่คิด
โดยนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า “การเดิน” นับเป็นความสามารถแรกของมนุษย์ที่จะพาตัวเองไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ ซึ่งจากศึกษาข้อมูลของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย พบว่า การเดินนั้นมีคุณค่าพอๆ กับยาอายุวัฒนะ เมื่อเดินเป็นประจำจะทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นเพราะช่วยลดความกังวลและอาการซึมเศร้าสามารถจัดการกับความเครียดอย่างได้ผล ช่วยลดน้ำหนักตัวโดยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน คนที่ลดน้ำหนักแล้วหรือคนที่ไม่อ้วนช่วยให้น้ำหนักตัวคงที่ เพิ่มการเผาผลาญน้ำตาล ลดระดับไขมันในเลือด ลดความดันโลหิต ลดภาวะกระดูกบางหรือผุกร่อน การเดินเพื่อสุขภาพต้องเดินให้มากพอโดยมีหลักการว่า ต้องเดินแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเดินช้า เพิ่มเวลาเมื่อรู้สึกชิน จนสามารถเดินได้นาน 30 นาที ซึ่งควรเดินให้ได้ระยะทางประมาณ 2.5-3.5 กิโลเมตร โดยใช้เวลา 30 นาที ด้วยการเริ่มเดินช้าๆ ประมาณ 3-5 นาที แล้วเพิ่มความเร็วจนถึงระดับ เริ่มรู้สึกเหนื่อยและยังสามารถพูดคุย-ทักทายได้ นาน 25-30 นาที ส่วนในช่วงท้ายชะลอให้ช้าลง 3-5 นาทีก่อนหยุด หากรู้สึกเหนื่อยหอบพูดเป็นคำๆ ขาดช่วง ให้ชะลอความเร็วในการเดินลง ถ้าเป็นมากหาที่นั่งพัก โดยควรเริ่มทำจาก 3 วันต่อสัปดาห์ และเพิ่มถึงสูงสุด 5-6 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งเมื่อรวมกันจะไม่น้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจ คือ เดิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ลดโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ร้อยละ 34 หากเดิน 10,000 ก้าวต่อวัน นาน 12 สัปดาห์ จะลดความดันโลหิต 8-10 มิลลิเมตรปรอท, และเมื่อเดินเร็ว 1 ชั่วโมงต่อวัน นาน 3 เดือน ลดน้ำหนักได้ 7 กิโลกรัม
“ซึ่งเมื่อดูภาพรวมแล้ว พบว่า การเดินมีประโยชน์ต่อสุขภาพ 4 ด้าน อาทิ สุขภาพทางกาย, จิตใจ, สังคม และปัญญา โดยสุขภาพทางกายนั้นเมื่อเดินในปริมาณที่พอเหมาะร่างกายส่วนต่างๆ ก็จะแข็งแรง อาทิ กล้ามเนื้อ, กระดูก, ข้อ เป็นการช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้คงที่ได้ ทั้งยังทำให้โรคหัวใจ, เบาหวาน, ความดันลดลง เมื่อพาตัวเองออกเดินจะมีเวลาในการพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน หรือคนในสังคมที่ได้พบเจอระหว่างเดินมากขึ้น ได้มองสังคมรอบข้างชัดเจนขึ้น ได้เปิดโลกทัศน์ ค้นพบมุมมองใหม่ๆ จากคนรอบข้างมากขึ้นซึ่งนี้ก็เป็นสุขภาพทางสังคมนั่นเอง สุขภาพทางจิตใจนั้นเมื่อได้พูดคุยได้เห็นสังคมก็จะสามารถกำจัดความเครียดได้ เพิ่มความสบายใจ ทำให้สุขภาพจิตดี มีสติมากขึ้น และเมื่อมีสติมากขึ้นสุขภาพทางปัญญาก็เกิด และเมื่อยิ่งเดินช้าเท่าไร ยิ่งมีสติ และมองสิ่งรอบๆ ตัวได้มากขึ้น มีสติปัญญาในการคิดไตร่ตรองมากขึ้น ทำให้สติปัญญาเฉียบแหลม เพิ่มความสามารถในการคิด การจำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมหัศจรรย์แห่งการเดินที่เกิดขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ ถึงเวลาแล้วที่สังคมต้องเริ่มก้าวเดิน” นายดนัย หวังบุญชัย กล่าว
ด้านศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ทุกคนเกิดมาเรียกว่าต้องเดินมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมและสังคมเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกคอยเอื้ออำนวยให้คนเราต้องเดินน้อยลงเพื่อลดระยะเวลาในการเดินทางไม่ว่าจะเป็นรถจักรยานยนตร์, ลิฟท์, บันไดเลื่อน ฯลฯ ซึ่งถ้าทุกคนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ได้ อย่างขึ้นลงบันใดชั้น หรือ 2-3 ชั้น ก็หันมาเดินขึ้นบันใดแทนการขึ้นลิฟท์หรือบันไดเลื่อน ขณะเดียวกันเมื่อออกจากบ้าน ออกจากออฟฟิศไปที่ใกล้ๆ ก็หันมาเดินไปขึ้นรถไฟฟ้า, เดินไปปากซอย, เดินไปซื้อกับข้าว, เดินไปจ่ายตลาด “ยิ่งใกล้ยิ่งต้องเดิน” ซึ่งการเดินในลักษณะเหล่านี้หากสามารถปฏิบัติได้อย่างสม่ำเสมอแน่นอนว่าจะช่วยเผาผลาญพลังงาน สร้างสมดุลให้กับร่างกายได้ ช่วยชาติประหยัดพลังงานได้ ที่สำคัญระหว่างการเดินจะทำให้ผู้เดินสัมผัสกับกับสภาพแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น ได้คิด ได้เห็นสังคมกว้างขึ้น และหากมีเพื่อนร่วมเดินด้วยจะเกิดมิตรภาพระหว่างการเดินก็จะเกิดขึ้น และที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การมีสุขภาวะทางกาย, จิตใจ, สังคม และปัญญาที่ดีตามมา
“และหากมีการช่วยพัฒนา ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการเดิน ให้สามารถชวนคนรอบข้างคนในครอบครัว คนในองค์กรมาช่วยกันเดิน เดินแล้วชวนกันคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะพัฒนาให้เกิดเป็นถนนน่าเดิน ปากซอยน่าเดิน องค์กรน่าเดิน มีทางเท้าที่น่าเดิน พัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะแก่การเดินและสามารถส่งเสริมการเดินได้อย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นโจทย์ที่จะนำไปสู่ในเรื่องของ “ชีวิตติดเดิน” ที่กลายมาเป็นโจทย์ชวนเด็กและเยาวชนมาประกวดหนังสั้นภายใต้ชื่อโครงการประกวดหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน” ในครั้งนี้ขึ้น” ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ กล่าว
โดยนายวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโพลี เทเลมีเดีย จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ประวัติศาสตร์มามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถตั้งตัวตรงแล้วก็สามารถเดินได้ “การเดิน” ทำให้เราได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ถ้าสังเกตนักคิด นักจิตวิทยา นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของโลก จะสร้างสรรค์งานออกมานั้นส่วนใหญ่จากการเดินทั้งสิ้น อาทิ นักจิตวิทยาอิมมานูเอิล คานท์ ก็ใช้วิธีการเดิน เดินไปครุ่นคิดไป, นักวิทยาศาสตร์ ไอสไตน์ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ชอบเดินมาก มีรถประจำตำแหน่ง แต่ไม่เคยนั่ง เดินจากบ้านไปมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันตลอด หรือแม้แต่นักธุรกิจอย่างสตีฟ จ็อบ ผู้สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงโลกมากมาย ผู้ชายคนนี้ไม่ได้เดินธรรมดาแต่เขาจะถอดรองเท้าแล้วก็เดินเท้าเปล่า นี่ก็สามารถการันตีได้ว่า “ชีวิตของคนเราเกิดมาก็ต้องเดิน” ทั้งสิ้น และเพื่อให้การรณรงค์ให้สังคมหันมาเห็นคุณค่าของ “การเดิน” หนังสั้นจึงถูกนำขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ เพราะการจะบอกและรณรงค์ให้สังคมตระหนักและเข้าถึงคุณค่าของการเดินสื่อหนังสั้น ถือว่าเป็นศาสตร์ที่สามารถสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นได้ง่าย โครงการประกวดหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน” จึงเกิดขึ้น เพื่อรับสมัครเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 15 — 25 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา มาผลิตหนังสั้นในรูปแบบ High Definition (HD) ความยาวไม่เกิน 10 นาที ทั้งรูปแบบของภาพยนตร์และแอนิเมชั่น ที่เน้นความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอ สามารถนำมาใช้เป็นสื่อที่จะสร้างการรับรู้และเข้าถึงต่อกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้อิสระในการสร้างแนวคิด กระบวนการผลิต ปล่อยความคิดและจินตนาการออกเดินได้อย่างอิสระ จากนั้นจะใช้สื่อสารให้ผู้คนในสังคมหันมาให้ความสำคัญกับการเดิน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้ชีวิตดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และปัญญา ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครจาก www.psichannel.com และ www.PINGs.in.th แล้วกรอกข้อมูลให้สมบูรณ์ พร้อมบอกแนวคิดหรือไอเดียในการนำเสนอและผลิตผลงาน จำนวน 1 หน้ากระดาษ A4 จากนั้นให้ถ่ายคลิปวีดีโอนำเสนอไอเดีย ความยาว 3 นาที ลงยูทูป (Youtube) แล้วส่งลิงค์ (Link) เข้ามาเพื่อทำการคัดเลือกได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 มกราคม 2557 ทีมที่นำเสนอน่าสนใจจะมีโอกาสเข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยผู้กำกับหนังและทีมงานมืออาชีพมากมายต่อไป
“สำหรับการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) จะมีเพียง 20 ทีมเท่านั้นที่จะมีโอกาสร่วมเตรียมความพร้อมสำหรับการผลิตหนังสั้น “ชีวิตติดเดิน” ซึ่งตลอดการทำงานจะมีโดยมีพี่เลี้ยงมืออาชีพคอยเป็นที่ปรึกษาให้ และหลังจากการอบรมแล้วแต่ละทีมจะต้องจัดทำ “เรื่องย่อ” “โครงเรื่อง” และ “ไอเดีย” ในการนำเสนอผลงานเข้ามาอีกครั้งเพื่อให้คณะกรรมการทำการคัดเลือกเหลือเพียง 10 ทีม เพื่อรับทุนการผลิตหนังสั้น แล้วจากนั้นทั้ง 10 ทีมจะต้องลงพื้นที่จริงเพื่อคลุกคลีกับเนื้อหาเพื่อศึกษาเรื่องราว และพร้อมสำหรับการผลิตหนังสั้นตามแนวความคิดและโครงเรื่องที่ได้นำเสนอ จากนั้นภายในเดือนมีนาคม 2557 จะมีการตัดสินเลือกผลงานที่ดีที่สุดรับเงินทุนการศึกษาต่อไป โดยรางวัลชนะเลิศ จะได้รับทุนการศึกษามูลค่า 50,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท, รางวัลชมเชย รับทุนการศึกษามูลค่า 5,000 บาท (จำนวน 2 รางวัล) และสุดท้ายรางวัล Popular Vote รับทุนการศึกษามูลค่า 10,000 บาท ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดและดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.psichannel.com และ www.PINGs.in.th” นายวรสิทธิ์ ลีลาบูรณพงศ์ กล่าว